หน้าแรก 9 เด็กและเยาวชน 9 บทวิเคราะห์สถานการณ์เด็กติดเกมในปัจจุบัน

บทวิเคราะห์สถานการณ์เด็กติดเกมในปัจจุบัน

ปัจจุบันสื่อและเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และกระจายไปสู่ทุกครัวเรือนอย่างทั่วถึง จากการสำรวจสถานการณ์และแนวโน้มด้านสื่อของประเทศไทย ปี ๒๕๕๗ และในอีก ๓ ปี (๒๕๕๗-๒๕๖๐) และ ๗ ปีข้างหน้า (สิ้นปี ๒๕๖๔) โดยส านักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (Promotion of Healthy Lifestyle) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าประชากรไทย ๖๗ ล้านคน เข้าถึงสื่อโทรทัศน์ได้มากที่สุด คือร้อยละ ๙๗ สื่อวิทยุร้อยละ ๔๐ หนังสือพิมพ์ร้อยละ ๓๐ และพบว่ามีประชากรที่เข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ต ๒๖.๑๔ ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก ๖ ล้านคนในปี พ.ศ.๒๕๔๖ โดยมีจ านวนเฉลี่ยของชั่วโมงการใช้งานอยู่ที่ ๓๒ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่ใช้งานผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ได้แก่ คอมพิวเตอร์พกพา สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้งานที่ไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาและสถานที่อีกต่อไป

สอดคล้องกับผลสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยส านักงานสถิติแห่งชาติ เปรียบเทียบตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๒ –๒๕๕๖ พบว่าครัวเรื่องที่มีโทรศัพท์พื้นฐานมีแนบโน้มลดลงจากร้อยละ ๒๑.๔ เป็นร้อยละ ๑๔ ในขณะที่การมีเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๒๐.๓ เป็นร้อยละ ๒๗.๗ และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ ๙.๕ เป็นร้อยละ ๒๓.๕

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

Download งานวิจัยทั้งหมด Click !!

ลูกที่มีโอกาสติดเกม

Game

8 พ่อแม่กลุ่มเสี่ยงที่ลูกมีโอกาสติดเกม

จากสถานการณ์เด็กติดเกม พบว่า ปัจจัยที่มีส่วนในการเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กมีโอกาสติดเกม คือ การเลี้ยงดูของครอบครัว ซึ่ง “พ่อแม่” มีบทบาทหน้าที่หลักในการอบรมสั่งสอน แม้ว่าการให้เด็กได้เติบโตขึ้นมาเป็นคนดี และมีความรับผิดชอบ จะเป็นเป้าหมายของการดูแลลูก แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สามารถไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างสมบูรณ์ก็คือ การเป็นพ่อแม่ที่ปฏิบัติอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกได้  ซึ่งจากการสัมภาษณ์ รศ.นพ. ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ข้อสังเกต 8 พ่อแม่กลุ่มเสี่ยง ที่ลูกมีโอกาสติดเกม โดยมีลักษณะดังนี้
1.   พ่อแม่Busy
พ่อแม่ Busy คือ พ่อแม่ที่ “คิดหรืออ้างว่าตัวเองยุ่ง”  มีภารกิจเป็นของตัวเอง  ไม่อยากให้ลูกมากวน พันแข้งพันขา งอแง หรืออยู่ใกล้ตนเอง  โดยจะใช้อุปกรณ์ ITทีวีเกม  สมาร์ทโฟน  IPadเสมือนพี่เลี้ยงเด็ก ตนเองจะได้มีเวลาส่วนตัวมากยิ่งขึ้น

2.   พ่อแม่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
พ่อแม่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์  มักจะเข้าใจว่าเด็กยุคนี้จำเป็นที่จะต้องเท่าทันเทคโนโลยี เพราะทำให้ทันสมัย ฉลาด เรียนรู้ไว ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านไอทีให้กับลูก จากที่กล่าวมาถูกเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ปฏิเสธว่าการที่มีทักษะด้านไอทีนั้นเป็นสิ่งจำเป็น  แต่สิ่งที่พ่อแม่ขาดความรู้ต่อเนื่อง คือ  ถ้าพ่อแม่ไม่ดูแล หรือปล่อยลูกให้ใช้เวลากับเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ยังเล็กๆ (ประมาณ 6 เดือน – 3 ขวบ) จะส่งผลร้ายกับเด็ก ทำให้พัฒนาการด้านอื่นๆ จะช้าลง เช่น พูดช้า กล้ามเนื้อมัดใหญ่-มัดเล็กเติบโตช้า และทักษะทางสังคมก็จะสูญเสียไปหากเป็นเด็กที่เข้าสู่วัยเรียน ปัญหาที่พบคือ เด็กจะไม่แบ่งเวลาให้กับสิ่งอื่น เช่น การเล่น การเรียน การเข้าสังคม

3.   พ่อแม่ที่กลัวอารมณ์ลูก
พ่อแม่ที่กลัวอารมณ์ลูก คือ พ่อแม่ที่ไม่กล้าปฏิเสธลูกหากลูกอาละวาดแผดเสียง หงุดหงิด หรือตะโกน  เมื่อถูกยึดเกม โทรศัพท์ หรือปิดคอมพิวเตอร์ พ่อแม่ก็จะตกใจลนลาน และทำอะไรไม่ถูกพ่อแม่ประเภทนี้จะไม่สามารถจัดการอารมณ์โกรธของลูกได้ ไม่รู้จะทำอย่างไรกระทั่งพ่อแม่กลายเป็นลูกไก่ในกำมือของลูก

4.   พ่อแม่ชอบใจอ่อน
พ่อแม่ชอบใจอ่อน มักจะไม่ชอบความขัดแย้ง ไม่กล้าปฏิเสธ ไม่อยากทำให้ผิดหวังไม่อยากทำให้ลูกเสียใจกลัวลูกโกรธพ่อแม่กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ที่ทำงานเยอะ ทำให้ตนเองเกิดความรู้สึกผิดที่ไม่ค่อยให้เวลากับลูก ดังนั้นเวลาลูกขออะไรก็จะให้เพื่อเป็นการชดเชยทดแทน

5.   พ่อแม่ที่ละเลยความสำคัญของวินัย
พ่อแม่ที่ละเลยความสำคัญของวินัยอาจเพราะตนเองไม่มีวินัย ไม่มีเวลาที่จะถ่ายทอดวินัยหรือไม่รู้จะถ่ายทอดอย่างไร เพราะฉะนั้นจึงเลี้ยงลูกแบบไร้วินัย ไม่มีการตั้งกฏกติกาภายในบ้าน ไม่ฝึกความรับผิดชอบ ไม่นั่งคุยกันในครอบครัวเพื่อวางกฏเกณฑ์เด็กจึงทำตามใจตนเองและขาดความรับผิดชอบ

6.   พ่อแม่ที่ขัดแย้งกันเอง
พ่อแม่ที่ขัดแย้งกันเองคือ พ่อแม่ที่จัดการลูกคนละแนวทางซึ่งลูกจะเชื่อคนที่ให้ประโยชน์แก่ตัวเอง เช่น หากคนใดคนหนึ่งใจอ่อน อะลุ่มอล่วย ลูกก็จะทำตามกฏคนนั้น

7.   พ่อแม่ที่ละเลยกิจกรรมในครอบครัว
พ่อแม่ที่ละเลยกิจกรรมในครอบครัว  คือ พ่อแม่ที่ไม่รู้จะหากิจกรรมอะไรที่ทำร่วมกับลูก ไม่ให้ความสำคัญในการทำกิจกรรมที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวมักพบในครอบครัวเดี่ยวจึงไม่ค่อยมีต้นทุนทางสังคม ในแง่ของกลุ่มเพื่อน หรือมีลูกในวัยเดียวกัน ซึ่งกิจกรรมที่พ่อแม่ประเภทนี้พอจะนึกออก เช่น ส่งลูกเรียนพิเศษ เดินเที่ยวห้าง กินข้าวนอกบ้าน เป็นต้น แต่ไม่ขวนขวายที่จะหากิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งหากพ่อแม่มีกลุ่มเพื่อนหรือมีลูกในวัยเดียวกันก็ไม่ยากที่จะหากิจกรรมทำระหว่างเด็กๆ เช่น กิจกรรมเดินป่า ส่องนก ถ่ายรูป ปลูกต้นไม้ ทำครัว อ่านหนังสือ ขี่จักรยาน หรือเล่นเกมหมากกระดานกับลูกในบ้าน เป็นต้น

8.   พ่อแม่ที่เอาแต่บ่น
พ่อแม่ที่เอาแต่บ่น คือ การบ่นที่มักตามมาด้วยคำตำหนิ การประชดประชัน แต่ไม่แก้ไขหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูก เพียงแค่บ่นและเดินหนีไป โดยพฤติกรรมก็จะทวนซ้ำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ พ่อแม่ประเภทนี้จะพูดแต่ข้อเสียของเกม มักไม่ถามถึงอารมณ์ความรู้สึกละเลยความเป็นอยู่ของลูก เอาแต่เพ่งเล็งเฉพาะเรื่องการเรียน การอ่านหนังสือและการทำการบ้าน จะใช้คำพูดเชิงจับผิด และเสียดสีอาทิ “เดี๋ยวจะเปิดให้เล่นทั้งวันทั้งคืน” “เกรดเทอมนี้จะถึงหนึ่งไหม” เป็นต้น ซึ่งใช้คำพูดที่ไม่สร้างสรรค์ เมื่อเด็กฟังก็จะรู้สึกต่อต้าน ไม่อยากทำตาม เร้าอารมณ์ทำให้โกรธ ทำให้รู้สึกไม่ดีทั้งต่อตัวเองและคนพูด

นอกจาก8 ข้อต้องห้ามข้างต้นแล้ว ยังมีอีก 2 สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ การสื่อสาร และสร้าง Self-Esteem
-การสื่อสารพ่อแม่ควรมีทักษะการสื่อสารกับลูกที่ดี ในเกียรติลูก ฟังลูก พยายามดึงลูกมามีส่วนร่วมในการสร้างวินัยและสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว

-การสร้าง Self-Esteemพ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง”เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความสามารถอย่างเช่น เมื่อพ่อแม่พาลูกทำกิจกรรม ลูกก็จะค้นพบว่าตนเองทำอะไรได้ดี และยิ่งถ้าประสบความสำเร็จด้วย ก็จะเกิดความภาคภูมิใจและมั่นใจ ซึ่งพ่อแม่ควรให้คำชม เปิดโอกาสและสร้างเวทีให้ลูกได้แสดงออก จะทำให้เด็กกลุ่มนี้ห่างไกลจากการติดเกม อีกทั้งช่วยสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและครอบครัวอีกด้วย

ทีมงาน Healthygamer.net
 เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ นายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลศิริราช

download

6 ข้อไม่ควรทำ ถ้าอยากให้ลูกเลิกติดเกม

     เคยไหมคะที่กลับมาถึงบ้านหลังจากทำงาน หรือหลังทำงานบ้านเสร็จเหนื่อยๆ พอเข้าไปในห้องก็เห็นลูกนั่งเล่นเกมหน้าคอมเสียแล้ว ด้วยความหงุดหงิด ประโยคแรกที่คุณพูดกับลูกก็เลยกลายเป็นว่า “เล่นเกมมากไปอีกแล้วนะ” พอพูดอย่างนี้ออกไป น้องๆบางคนอาจยอมหยุดเล่นแต่ทำท่ากระฟึดกระฟัดใส่คุณ หรือบางคนนอกจากไม่ยอมเลิกเล่นแล้วยังทำตัวไม่น่ารักจนคุณต้องดุว่าต่อไปอีก กลายเป็นว่าตอนเย็นวันนั้นก็เริ่มต้นด้วยความรู้สึกไม่ดีต่อกันเสียแล้ว
ในยุคนี้เด็กกับคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ขาดไปเสียแล้วล่ะค่ะ พวกเค้าต้องใช้มันในการทำงาน ติดต่อกับเพื่อนฝูง อีกทั้งยังเป็นความบันเทิงใกล้ตัวที่จะเข้าไปเล่นเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเค้าขาดกิจกรรมอย่างอื่น หรือสิ่งอื่นที่จะดึงเค้าออกมาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ ก็เป็นเรื่องง่ายมากที่เขาจะเล่นเกมมากเกินไปจนเข้าขั้น “ติดเกม”

1. ตำหนิ บ่น ว่า แต่ไม่เอาจริง 
“เล่นนานไปแล้ว”  “เลิกได้แล้วนะ”  “เมื่อไหร่จะเลิกซักที” การพูดอย่างนี้บ่อยๆ ซ้ำๆ นอกจากจะไม่ค่อยได้ผลแล้ว ยังทำให้ลูกเกิดความรำคาญว่า ‘อะไรเนี่ย แม่บ่นอีกละ’ หนักๆเข้าก็กลายเป็นว่าไม่อยากคุยหรือเจอหน้าพ่อแม่ เพราะรู้ว่าเค้าจะต้องโดนต่อว่าแน่

2. จับผิด ไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อใจ
คอยจ้องจับผิด เวลาเปิดคอมก็ถามว่าเปิดเล่นเกมรึเปล่า พูดดักคอเวลาลูกใช้คอมพิวเตอร์ว่าอย่าเล่นเกมเชียวนะ หรือเวลาน้องๆกลับมาถึงบ้านอาจจะถามว่า “เอ๊ะ วันนี้กลับช้า ไปแวะร้านเกมก่อนเข้าบ้านรึเปล่า ?”
การที่คุณพ่อคุณแม่ทำแบบนี้บ่อยๆ น้องๆจะรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่เชื่อใจเค้า (แม้ว่าความจริงแล้วเค้าเองก็มีส่วนทำให้พ่อแม่ไม่เชื่อใจด้วยก็ตาม) แต่ความไม่ไว้วางใจ หวาดแระแวงซึ่งกันและกันนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อความสัมพันธ์เลยล่ะค่ะ

3. ใจอ่อนเมื่อลูกต่อรอง
ถึงกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้แล้วว่าเล่นเกมได้เท่านี้นะ แต่น้องยังอยากเล่นต่อ เลยต่อรองกับคุณว่า ‘ขออีก 10 นาทีน่า…อีกแป๊ปน่า’ ไปๆ มาๆ 10 นาทีที่ว่าอาจลากยาวเป็นครึ่งชั่วโมง หรือหลายชั่วโมงเลยก็เป็นได้ ซึ่งพอต่อรองได้ครั้งหนึ่งก็มักจะมีครั้งต่อๆ ไป เพราะเค้ารู้ว่าพ่อแม่ไม่เอาจริง การใจอ่อนอย่างนี้ไม่ได้มีผลกับแค่เรื่องเล่นเกมเท่านั้นนะคะ แต่จะมีผลต่อกฎเกณฑ์ทุกอย่างในบ้าน ถ้าลูกรู้ว่าคุณจะใจอ่อนแล้ว เป็นเรื่องยากที่เค้าจะทำตามกฎกติกาที่วางไว้เพราะคิดว่าจะมาต่อรองเอาทีหลังได้ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการรักษาระเบียบวินัยในตัวเองของเค้าในระยะยาว
4. ไม่เสมอต้นเสมอปลาย
คุณอาจเคร่งครัดต่อกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ได้ แต่ก็เป็นแค่ชั่วครั้งชั่วคราว เช่น ตั้งกฎว่าอย่าเล่นเกมเกิน 2 ชั่วโมง แต่ก็ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ซึ่งอาจเป็นเพราะความใจอ่อนของคุณ หรือความที่คุณไม่มีเวลา สุดท้ายแล้วกฎเกณฑ์เหล่านั้นก็จะไร้ความหมาย ไม่ต่างกับการใจอ่อนยอมให้ทุกครั้งเลยค่ะ

5. ผู้ปกครองขัดแย้งกันเอง
เมื่อลูกขอเล่นเกม คุณแม่อาจจะไม่ให้ แต่คุณพ่ออาจตามใจ เวลาเกิดความขัดแย้งกันอย่างนี้ น้องๆก็มักเลือกเข้าข้างฝ่ายที่ให้ประโยชน์กับเค้ามากที่สุด ซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ได้ เช่น เค้าอาจรู้สึกว่าแม่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเค้า เป็นศัตรูกับเค้าไปเลย ในเรื่องนี้คุณพ่อคุณแม่ควรมีจุดยืนร่วมกันค่ะ ว่าจะวางกฎกติกาของบ้านอย่างไร และตัวน้องๆ เองก็ต้องมีส่วนร่วมในการวางกฎกติกาด้วยนะคะ

6. รู้สึกผิด
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจรู้สึกไม่ดีเวลาที่ต้องขัดใจลูก ไม่อยากให้ลูกเสียใจ หรือผู้ปกครองหลายคนอาจรู้สึกผิดเพราะมองว่าตนเองไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูกจึงอยากชดเชยด้วยการยอมให้เล่นเกม สุดท้ายแล้วเกมอาจกลายเป็นเสมือนพี่เลี้ยงเด็ก น้องๆได้ใช้เวลากับมันมากกว่าอยู่กับคุณพ่อคุณแม่เสียอีก ซึ่งถ้าเค้าผูกพันกับมันมากๆ ภายหลังพอเราเริ่มคิดว่าลูกชักจะติดเกมแล้วนะ พยายามจะดึงเขาออกมา คุณพ่อคุณแม่จะยิ่งลำบากใจมากกว่าการขัดใจในช่วงเริ่มแรกเสียอีกนะคะ
ทั้งหมดนี้คือคำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังอยากให้ลูกเลิก หรือลดเวลาเล่นเกมลงบ้าง คุณพ่อคุณแม่ลองนำไปปรับใช้กันนะคะ และหากท่านใดที่มีคำถามเกี่ยวกับปัญหาติดเกมของน้องๆ สามารถเข้ามาฝากคำถามที่  http://www.healthygamer.net/webboard/   ได้ตลอดเวลาค่ะ Healthy gamer มีทีมจิตแพทย์ และนักจิตวิทยาไว้คอยตอบคำถามของทุกท่านค่ะ

ผู้เขียน : อรพร บาลี ทีมงาน Healthygamer.net
 เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ นายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลศิริราช
ข่าว-บทความ ล่าสุด
แนะนำมูลนิธิฯ