โครงการเลี้ยงวัว

ภาพและเรื่อง โดย  สมเกียรติ สุริยะวงศ์

หมู่บ้านห้วยตองสาด เป็นหมู่บ้านชนบทที่อยู่ห่างไกลในอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาปีละครั้ง ซึ่งในช่วงที่รอผลผลิตอีกครึ่งปีนั้นทำให้ชาวบ้านขาดรายได้ หากปีนั้นได้ผลผลิตไม่ดี รายรับที่คาดว่าจะได้ ก็กลับไม่ได้ ทำให้เกิดภาระหนี้สิน เป็นเหตุให้ชาวบ้านหลายหลังคาเรือนมีชีวิตที่ยากลำบาก  หลายคนเกิดความท้อแท้ใจและหมดหวังในชีวิต บางคนออกจากหมู่บ้านเพื่อไปทำงานรับจ้างรายวันในต่างอำเภอ  จนเมื่อทางโครงการพัฒนาเด็กคริสตจักรเบธาเนียได้เข้ามาช่วยเหลือ โดยนำโครงการเลี้ยงวัวเข้ามาเพื่อส่งเสริมรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น  เริ่มจาก 10 ครอบครัว กับวัว 10 ตัว  จนมีจำนวนวัวเพิ่มมากขึ้น และขยายไปยังหมู่บ้านอื่นๆ  ส่งผลให้ชาวบ้านหลายครัวเรือนมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีมากขึ้น  พอเพียง และมีความสุข โดยไม่มีหนี้สิน

ครั้งหนึ่งผมไม่มีอะไรเลย แต่ทางโครงการได้เข้ามาช่วยเหลือครอบครัวของผม จนผมและครอบครัวมาถึงจุดนี้ ผมก็เลยอยากที่จะส่งต่อ อวยพรให้กับคนอื่นๆด้วยเช่นกัน หม่อกูยีเป็นหนึ่งในครอบครัวที่ได้เข้าร่วมในโครงการเลี้ยงวัวนี้ เขาเล่าไว้ว่า เมื่อก่อนเขาทำนาอย่างเดียว ได้เงินน้อยมาก และในช่วงที่รอทำนานั้นก็ไม่มีรายได้เสริม หรือมีงานอื่นๆทำ ในตอนนั้น บ้านหลังเล็กมาก ทั้งทำอาหารกินและนอนอยู่ในห้องเดียว 4คนพ่อแม่ลูก บางวันก็แทบจะไม่มีกินเลย ท้อแท้มาก เคยออกไปหางานต่างอำเภอ แต่งานก็หายากมาก จนเมื่อมาได้ยินเกี่ยวกับโครงการเลี้ยงวัวของทางโครงการพัฒนาเด็กคริสตจักรเบธาเนีย จึงเกิดความสนใจและได้ลงทะเบียนเข้าร่วมกับทางโครงการ ภายหลังก็ได้อาสาเป็นตัวแทนชาวบ้านเพื่อที่จะเข้าไปทำการศึกษาเรียนรู้และนำเอาความรู้ทุกอย่างที่ได้เรียนนั้นกลับไปพัฒนาภายในชุมชนต่อไป

พอได้เข้าร่วมในโครงการนี้มาสักพักหนึ่ง ก็เริ่มเห็นว่ามันเกิดผลเป็นอย่างมาก ช่วยเสริมรายได้เพิ่มเติมจากการทำนา ต้นทุนในการเลี้ยงวัวก็ต่ำมาก แทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เมื่อจำนวนวัวเพิ่มขึ้น ก็ได้เริ่มคิดที่จะขายวัวออกไปบ้าง และเก็บบางตัวไว้เพื่อทำการขยายพันธุ์ต่อไป และเมื่อได้กำไรมา ก็ซื้อพ่อพันธุ์วัวเพิ่มเข้าอีก”

เวลาได้ผ่านไป 4 กว่าปีแล้วตั้งแต่ที่โครงการเลี้ยงวัวได้เริ่มดำเนินการ เริ่มต้นจากวัวเพียง 1ตัว เท่านั้น ปัจจุบันนี้ หม่อกูยี มีวัวมากกว่า40ตัว ยังไม่รวมกับที่เขาขายไปอีกตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา อีกทั้งเขาเองยังเป็นครอบครัวต้นแบบ และเป็นที่ปรึกษา ทั้งของชาวบ้านห้วยตองสาด และหมู่บ้านอื่นๆที่อยู่ในละแวกนั้นอีกด้วย ตัวเขาเองยังเป็นคนจัดหาพ่อพันธุ์วัว และเปิดผสมพันธุ์วัวให้กับชาวบ้านที่มีความสนใจ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆอีกด้วย

ข่าดี ชาวบ้านห้วยตองสาด เป็นครอบครัวหนึ่งที่เรียนรู้จากหม่อกูยี  โครงการนี้มีประโยชน์มากถึงแม้ว่าพวกเราจะไม่ได้เข้าอยู่ในโครงการนั้น แต่พวกเราก็ได้ความรู้จากหม่อกูยี ที่คอยช่วยเรา แนะนำวิธีการเลี้ยง และที่สำคัญคือการต่อยอด เราไม่ได้เรียนรู้เพียงแค่เอาวัวมาเลี้ยงและขาย แต่เรียนรู้การเลี้ยงและขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างยั่งยืน

บามี นะซอ ผู้จัดการโครงการคริสตจักรเบธาเนีย “ตอนนี้คนในหมู่บ้านทำนาและเลี้ยงวัว ผมดีใจมากที่เห็นคนในหมู่บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและชุมชนรอบๆหมู่บ้านก็พัฒนาขึ้น”

นอกจากนี้โครงการยังได้มีการติดตามผลตลอด 4 ปีที่ผ่านมา และได้มีการพัฒนาด้านการเลี้ยงดูวัวให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยนำเอาหญ้าเนเปียร์เข้ามาทดแทนในอาหารที่ใช้เลี้ยงวัว ซึ่งหญ้าชนิดนี้ทำให้วัวเจริญเติบโตเร็วขึ้นและมีน้ำหนักที่ดีขึ้นกว่าเดิมเท่าตัว จากที่เคยใช้เวลาประมาณ 4-5 ปีกว่าจะขายวัวได้ เมื่อใช้หญ้าชนิดนี้เลี้ยงวัวประมาณ 3 ปีกว่าก็สามารถขายวัวได้แล้ว นอกจากนั้นชาวบ้านยังสามารถปลูกหญ้าชนิดนี้ได้เอง และยังนำเอาไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นๆได้อีก ปัจจุบันนี้หญ้าเนเปียเป็นที่นิยมในหมู่เกษตรกรโดยเอามาทดแทนในเรื่องของอาหารเลี้ยงสัตว์ และยังช่วยลดต้นทุนค่าอาหารมากเกินกว่าครึ่ง

ปัจจุบันนี้ หม่อกูยี ได้กลายเป็นแกนหลักในการให้คำปรึกษาแนะนำการเลี้ยงวัวให้ได้ประสิทธิผลมากขึ้น เขาได้แนะนำชาวบ้านถึงวิถีชีวิตแบบพอเพียงและยั่งยืนจากที่เขาได้เรียนรู้มาจากทางโครงการพัฒนาเด็กคริสตจักรเบธาเนีย มากกว่านั้น เขายังได้แบ่งปันถึงหนทางที่เที่ยงแท้ หนทางแห่งความจริง และหนทางแห่งชีวิต ให้กับอีกหลายคนที่สนใจ

หม่อกูยีและภรรยา “ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการเลี้ยงวัว เรายากจนมาก แต่ตอนนี้เรามีทุกสิ่งที่จำเป็น แม้ว่าเราจะไม่ร่ำรวยแต่เรามีสันติสุขและมีความสุขในครอบครัว และเรายังได้ช่วยให้คำแนะนำแก่ครอบครัวอื่นที่สนใจเลี้ยงวัวเป็นอาชีพ

ทุกวันนี้โครงการเลี้ยงวัวที่ห้วยตองสาดได้กลายเป็นโครงการแม่แบบที่เป็นตัวอย่างของการเสริมสร้างรายได้อย่างยั่งยืนเพิ่มเติมจากการทำไร่ทำนาของชาวบ้านที่นี่  ปัจจุบันได้มีชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านในละแวกนั้นมากกว่า 50 หลังคาเรือนได้รับเอาแนวความคิดนี้ไปใช้

ส่วนหนึ่งของกลุ่มชาวบ้านที่เลี้ยงวัวในโครงการนี้

ข่าว-บทความ ล่าสุด
แนะนำมูลนิธิฯ