หน้าแรก 9 เด็กและเยาวชน 9 คำพูดปวดกระดองใจ

คำพูดปวดกระดองใจ

หนึ่งในบรรดาที่ผู้วิจัยด้านเด็กทั่วโลก ลงความเห็นตรงกันว่า ส่วนสำคัญที่จะนำพาเด็กๆ ให้เติบโตสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักดิ์ศรี  ให้ความนับถือตนเองหรือพาไปลงเหว เอาง่ายๆ ก็คือ “คำพูด” ของคนเป็นพ่อแม่ โดยเฉพาะคำพูดที่คอยติเตียนตำหนิเจ้าตัวน้อยของเรา ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่มีศักดิ์ศรี ขาดความเชื่อมั่น ยอมรับนับถือในตนเอง  อาชญากรหลายคนทีเดียวที่ยอมรับว่า  การเลี้ยงดูแบบถูกตำหนิติเตียน มีส่วนเป็นอย่างมากที่ทำให้พวกเขารู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่ากลายเป็นคนก้าวร้าวรุนแรง

นั่นเป็นเพราะว่า การตำหนิติเตียนถือเป็นการทำร้ายอย่างหนึ่ง เมื่อเด็กถูกตำหนิติเตียนมากเข้า เด็กก็จะยิ่งอ่อนแอและความอ่อนแอนี่เองที่เป็นจุดอ่อนสำคัญที่จะทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อให้ถูกทำร้ายต่อไปได้ และสุดท้ายเรื่องก็จะไปจบลงที่เด็กคนนั้นกลายเป็นผู้กระทำคนอื่นต่อไป

 

คำพูดต่อไปนี้ คือคำพูดชวนปวดกระดองใจที่พ่อแม่ชอบใช้กับลูกเสมอ

“ทำไมไม่เก่งเหมือนพี่เขาบ้างเลย”

การพูดเปรียบเทียบระหว่างเด็กด้วยกันนอกจากไม่สร้างให้เกิดกำลังใจแล้ว กลับบั่นทอนให้เด็กเกิดความไม่มั่นใจในตนเองและสร้างความอิจฉาในหมู่พี่น้องไม่รู้จบด้วย เด็กแต่ละคนมีศักยภาพแตกต่างกันไป พ่อแม่ที่มักเปรียบเทียบลูกตนเองกับเด็กอื่นจะทำให้เด็กๆ มีทัศนคติที่ผิดๆ ในการมองปัญหาหรือกลุ่มเพื่อน เช่น ยกย่องความเก่งมากกว่าความดี หรือสูญเสียความมั่นใจไปพร้อมกับมองข้ามความสามารถด้านอื่นของตนเองไป
แทนที่จะพูดเปรียบเทียบในสิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์ใด พ่อแม่อาจหันมาชักชวนลูกด้วยการพูดที่ให้กำลังใจ ทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ไม่ทอดทิ้ง และเป็นกำลังใจให้เราสู้ต่อไปในการทำเรื่องนั้นๆ ให้สำเร็จ

“กินเลอะเทอะอีกแล้ว สอนไม่รู้จักจำ”

การพูดทำนองนี้ไม่เพียงทำให้มื้ออาหารอันน่าจะเต็มไปด้วยความสุขของการอยู่พร้อมหน้าเกิดความตึงเครียดเท่านั้น พฤติกรรมของลูกก็จะไม่ได้ดีขึ้น ทั้งลูกยังจะทำหน้าเหมือนกินยาขมเวลาอยู่กับครอบครัวอีกด้วย ทั้งที่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เลย  ในชีวิตประจำวันดูเหมือนมีเรื่องมากมายที่ทำให้คนเป็นพ่อแม่พร่ำบ่นได้ตลอดเวลา ซึ่งยิ่งบ่นว่าเท่าไรเด็กๆ ก็ยิ่งรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า ไม่เป็นที่ยอมรับมากขึ้นเท่านั้น
พ่อแม่ควรจะมองหาสาเหตุที่ทำให้ลูกกินเลอะเทอะว่ามาจากสาเหตุใด แล้วให้คำแนะนำที่ถูกต้อง ง่ายต่อการปฏิบัติของเด็ก เพราะจะทำให้เด็กเองได้รู้ด้วยว่าที่ตนเป็นหรือกำลังทำอยู่นี้เป็นเพราะอะไรกันแน่

“บอกกี่ครั้งแล้วว่าอย่าทำ”

คุณอาจจะต้องบอกกันไปอีกร้อยครั้งพันครั้งหรือตลอดชีวิต เพราะการพูดเช่นนี้ไม่ช่วยแก้ไขอะไร แต่ลูกจะอับอายและล้มเหลว รู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ท่าในสายตาพ่อแม่   พ่อแม่ที่ใช้คำพูดเช่นนี้บ่อยๆ มักมองข้ามความสำคัญข้อหนึ่งไป นั่นก็คือไม่เคยบอกเหตุผลของการห้ามปรามนั้นๆ มักจะห้ามปรามเมื่อมาถึงปลายเหตุแล้ว ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแถมยังทำให้เด็กไม่เข้าใจ พลอยไม่ชอบ ไม่เชื่อฟังพ่อแม่อีกด้วย

“ทำไมชอบก่อปัญหาอยู่เรื่อยนะ”

เสียงมันบอกอยู่ชัดๆ ว่า ในสายตาของพ่อแม่ ลูกมีภาพไม่ค่อยน่าพิสมัยสักเท่าไร เด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่พอจะทำความเข้าใจว่า แล้วคำพูดเหล่านี้ก็จะผ่านไปเมื่อแม่อารมณ์ดีขึ้นและแม่ยังรักเราอยู่ เด็กๆ ที่ต้องการให้ตนเองดูดีเสมอในสายตาของพ่อแม่คำพูดเช่นนี้ส่งผลในทางลบต่อการนับถือตนเอง เมื่อไม่ได้รับการยอมรับจากพ่อแม่เสียแล้ว เด็กจะนับถือตนเองได้อย่างไร
บอกลูกให้รู้ถึงสิ่งที่เราต้องการอย่างตรงไปตรงมาหรือช่วยแก้ปัญหาในสิ่งที่เดขึ้นซ้ำซากจะดีกว่า ถ้าคุณรู้ว่าทุกเช้าจะต้องอารมณ์เสียกับอาการโอ้เอ้ของลูกจนไปทำงานสาย เตรียมการตรวจตราไว้ตั้งแต่กลางคืนจะดีมั้ย เช่น ดูแลลูกจัดตารางสอน เตรียมเครื่องแต่งตัวให้พร้อม

“ทำไมถึงโง่อย่างนี้” 

รวมถึง “จอมซุ่มซ่าม ขี้เกียจตัวเป็นขน”  ฟังแล้วก็หนาวเสียเหลือเกิน นักจิตวิทยาชี้ว่าการประนามลูกเช่นนี้ยิ่งบ่อยครั้งเท่าไร เท่ากับผลักดันให้ลูกเป็นเช่นนั้นในอนาคต เป็นการทำลายแรงกระตุ้นและแรงฮึดที่จะทำอะไรให้สำเร็จ เด็กทุกคนต้องการเป็นคนดี ฉลาด น่ารักในสายตาของพ่อแม่ ไม่มีเสียงก่นว่าของใครจะดังและมีน้ำหนักเท่ากับของพ่อแม่อีกแล้ว

คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับกรณีนี้ก็คือ  สกัดกั้นอารมณ์ของตัวเองให้ดี สูดหายใจลึกๆ กัดลิ้นไว้ถ้าจะพูดคำที่ไม่เข้าท่าออกมา แต่เมื่อหลุดคำพูดอันชวนปวดกระดองใจนี้ออกไปแล้ว “ขอโทษ” ลูกเสียเถอะ บอกกับลูกว่า “พ่อแม่ไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย แต่วันนี้มีเรื่องแย่ๆ เข้ามาหลายเรื่องจนสุดจะรับมือไหว พ่อ (แม่) พูดไปด้วยอารมณ์แท้ๆ”

คำพูดเหล่านี้คงพอเพียงที่จะเป็นตัวอย่างให้เรามองเจ้าตัวน้อยของเราอย่างเข้าใจ อย่าไปเผลอคิดว่า ลูกของเราช่างบอบบางจนแตะต้องไม่ได้ แท้จริงเด็กนั้นเข้มแข็งและเก่งกว่าที่เราคิดมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้คำพูดใดไปกระตุ้นให้ลูกเกิดแรงจูงใจที่ดีในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเกิดความนับถือตนเอง พ่อแม่ยุคใหม่ต้องเก่งพูด เก่งอธิบาย เพราะเราต้องการเด็กรุ่นใหม่ ที่รู้คิด มีศักดิ์ศรี มีความเคารพในตนเอง เมื่อเติบโตขึ้น พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะเท่านั้น ยังเป็นพ่อแม่ที่มีคุณภาพคับแก้วอีกด้วย

โดย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
ข่าว-บทความ ล่าสุด
แนะนำมูลนิธิฯ