หน้าแรก 9 ความรู้ปกป้องเด็ก 9 ผู้ใหญ่กับสุขภาพจิตของเด็กน้อย

ผู้ใหญ่กับสุขภาพจิตของเด็กน้อย

หลายๆครั้งที่ลูกน้อยจำต้องพลัดพรากจากอกพ่อแม่เพื่อไปอาศัยอยู่ต่างถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเพราะการศึกษาหรือสาเหตุอื่นใดและอาจจะต้องพักอาศัยอยู่กับญาติผู้ใหญ่ เมื่อความไว้วางใจทั้งหมดได้มอบให้กับญาติผู้ใหญ่ที่สนิทสนมไม่ว่าจะมีศักดิ์เป็นป้า ลุงน้า หรืออาซึ่งถือได้ว่าจะเป็นผู้เลี้ยงดูหรือผู้ที่มีบทบาทเป็นผู้ปกครองบุคคลเหล่านี้มีอิทธิพลต่อเด็กและมีส่วนสำคัญกับพัฒนาการเด็กทางด้านจิตใจทั้งยังสามารถเป็นผู้สร้างผลกระทบกับอนาคตของเด็กได้

ในกรณีที่เด็กจำต้องไปอาศัยอยู่กับญาติผู้ใหญ่  ความอยุติธรรมต่างๆอาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาจเกิดจากความรักลูกของตัวเองจนอยู่เหนือเหตุผล หรือบางทีการพูดจาอาจจะปราศจากการถ้อยทีถ้อยอาศัย และสัมผัสแห่งรักที่เด็กควรจะได้รับนั้นขาดหายไป เหตุผลบางประการนี้อาจจะนำไปสู่ความบกพร่องทางจิตใจเด็ก ซึ่งหากสะสมเพิ่มขึ้นทุกวัน ท้ายที่สุดในระยะยาวนั้นอาจจะทำให้เด็กกลายเป็นเด็กมีปัญหาและสืบเนื่องกลายเป็นปัญหาของสังคมได้ในที่สุด

บ้านเป็นรากฐานของความอบอุ่น

การที่จะเลี้ยงดูเด็กที่ไม่ใช่ลูกของเราให้เชื่อฟังและเป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่ายนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะหากเรามีวิธีเลี้ยงดูเขาอย่างอ่อนโยนและประนีประนอม ดังข้อแนะนำง่ายๆดังนี้

บ้านหลังนี้เด็กน้อยที่ได้อาศัยอยู่ ก็เป็นบ้านของเขาเช่นกัน!

การที่ทำให้เด็กรู้สึกอุ่นใจเมื่อกลับบ้านนั้นสามารถสร้างความมั่นใจว่าเขาได้ใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย การสร้างความตึงเครียดว่าเด็กเป็นแค่ผู้อยู่อาศัยนั้นอาจจะทำให้เขารู้สึกว่าเขามีปมด้อยเพราะไม่มีบ้านเป็นของตนเองและต้องขออาศัยอยู่กับผู้อื่น หรือกลัวและกังวลที่จะต้องกลับมาบ้านหลังใหม่นี้ เด็กอาจจะไม่อยากกลับบ้าน ติดเพื่อน ติดร้านเกมส์และกลายเป็นปัญหาของสังคมในที่สุด อีกทั้งยังสามารถบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องหรือระหว่างตัวคุณและหลานได้ เด็กควรจะมีที่พึ่งทางจิตใจเมื่ออยู่ไกลจากพ่อแม่ ในฐานะที่คุณเป็นผู้ดูแลปกครองเด็ก คุณจึงควรทำให้เขารู้สึกว่าเขาสามารถพึ่งพาและปรึกษาคุณได้

การแบ่งปันภายในครอบครัว

การแบ่งปันกันระหว่างทุกคนในครอบครัวนั้นหมายถึง การเอาใจใส่จิตใจของผู้อื่นและพยายามทำความเข้าใจกับมุมมองที่แตกต่าง มีน้ำใจ และถ้อยที่ถ้อยอาศัย คุณควรทำให้ลูกของคุณและหลานๆ เห็นเป็นตัวอย่างถึงความเอื้ออาทรกันภายในบ้าน เช่น ให้รับประทานอาหารที่เหมือนกัน แบ่งขนมให้ลูกและหลานเท่าๆกัน หรือหากิจกรรมสนุกๆ ทำร่วมกัน อย่างเช่น การเล่นกีฬา เป็นต้น

การเล่นกีฬายังจะสอนให้เด็กๆ เริ่มเห็นคุณค่าของการแบ่งปันเมื่อเด็กเติบโตขึ้นเขายังสามารถเก็บความทรงจำที่ดีที่มีต่อครอบครัวและเติบโตเป็นบุคคลที่สังคมรักใคร่เพราะมีน้ำใจช่วยเหลือแบ่งปัน

สอนเด็กให้มีความเท่าเทียมกัน

การเปรียบเทียบความสามารถและวิสัยทัศน์ของเด็กนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งเพราะข้อเปรียบเทียบที่ด้อยกว่าเด็กอีกคนอาจจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดว่าส่วนด้อยนั้นคือปมด้อยของเขา เด็กทุกคนเกิดมามีความสามารถที่แตกต่างกัน รวมไปถึงพัฒนาการเด็กที่แตกต่างกันอีกด้วย

เด็กแต่ละคนนั้นมีอารมณ์เป็นของตนเองและมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน เด็กไม่ควรถูกกดดันให้ทำอะไรบางอย่างที่พวกเขาไม่พร้อม หรือไม่ชอบที่จะทำ เพราะอาจสร้างความสับสนให้กับเด็กน้อยและอาจทำลายความมั่นใจของพวกเขาได้ ผู้ปกครองสามารถสอนให้เด็กพัฒนาทัศนคติในเชิงบวกต่อการเรียนรู้ และค้นหาความสามารถพิเศษที่พวกเขาสนใจแทนที่จะหาข้อเปรียบเทียบ
นอกจากนี้ อย่ากดดันให้เด็กต้องฝืนทำในสิ่งที่พวกเขาไม่ชอบ เพราะนั่นหมายถึงคุณกำลังปิดกั้นโอกาสในการค้นหาหรือฝึกฝนความสามารถพิเศษในตัวของเขา

การพูดจากับเด็ก

แน่นอนว่าผู้ใหญ่ควรจะมอบความรู้สึกสบายใจให้กับเด็กเมื่อเขามีปัญหาหรือมีความกังวลใจ เด็กจะได้มีความกล้าที่จะเปิดอกพูดคุยกับคุณ การพูดจากระแทกแดกดันเสียงดังขึงขังเมื่อเด็กทำผิดอาจจะทำให้เด็กเกิดความน้อยใจ และเป็นปัญหาได้ในระยะยาว เพราะจะทำให้เด็กเกิดความกลัวและไม่กล้าที่จะเผชิญหน้าในการพูดจากับคุณถึงปัญหาที่เขาต้องการคำชี้แนะ สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเขาและอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นผลร้ายต่อตัวเด็ก เช่น กลายเป็นคนเก็บตัว และไม่ไว้ใจผู้อื่น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม

 โดย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
ข่าว-บทความ ล่าสุด
แนะนำมูลนิธิฯ