หน้าแรก 9 ความรู้ปกป้องเด็ก 9 ฝึกลูกรับมือภัยร้ายในชีวิตประจำวัน

ฝึกลูกรับมือภัยร้ายในชีวิตประจำวัน

สถานการณ์ภัยร้ายในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มทวีความรุนแรงทุกขณะ และกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดก็หนีไม่พ้นเด็กที่มักกลายเป็นเหยื่อของภัยร้ายในชีวิตประจำวันท่ามกลางสถานการณ์ข่าวร้ายๆ ที่เกิดขึ้นทุกวี่วัน จึงอยากชวนพ่อแม่ ผู้ปกครองหันมาตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลและป้องกันไม่ให้ลูกหลานของเราตกเป็นเหยื่อกันอย่างจริงจังได้แล้ว

3-2 copy

ประการแรก – สอนให้ลูกเข้าใจเรื่องความปลอดภัย และไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวัน อย่าคิดว่าลูกเล็กเกินไปไม่เข้าใจ แต่ให้ดูวัยของเขาและสอนให้เหมาะกับวัย ให้ลูกได้เรียนรู้อย่างเหมาะสม และฝึกให้ลูกระมัดระวังตัว ถ้าเป็นเด็กเล็ก ต้องฝึกไม่ให้ลูกไปกับคนแปลกหน้าหรือรับของจากคนแปลกหน้า ฝึกลูกปฏิเสธให้เป็น หรือสอนให้ลูกได้เรียนรู้ว่าในสังคมมีทั้งคนดีและไม่ดี

ประการที่สอง – เมื่อลูกเริ่มโต ควรสอนให้ลูกเรียนรู้เรื่องการป้องกันตัวเอง เรียนรู้ศิลปะการป้องกันตัว อาจหยิบยกสถานการณ์ให้ลูกคิดตามก็ได้ เช่น ถ้าเกิดสถานการณ์เช่นนี้ ลูกจะทำอย่างไร และชวนกันคิดต่อไปเรื่อยๆ ด้วยการสมมติสถานการณ์ที่อาจเป็นข่าวด้วยก็ได้ อย่าคิดว่าไม่มีทางเกิดขึ้นกับลูกเราเด็ดขาด แต่ควรสอนให้ลูกได้เรียนรู้ว่ามันอาจเกิดขึ้นกับเราก็ได้ แล้วถ้าเกิดขึ้นเราควรทำอย่างไรต่างหาก

ประการที่สาม – ฝึกให้ลูกเป็นเด็กสังเกตสิ่งรอบตัว ต้องยอมรับว่า เด็กในยุคสมัยก่อน เป็นเด็กที่มีความสังเกตสิ่งรอบตัวมากกว่าเด็กในยุคปัจจุบัน เพราะเด็กยุคนี้มักจะหมกมุ่นอยู่กับเทคโนโลยี เวลาอยู่ในที่สาธารณะหรืออยู่บนรถ เรียกว่าแทบจะทุกหนทุกแห่ง เราจะเห็นเด็กจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์มือถือ และไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ซึ่งทำให้บรรดาพวกมิจฉาชีพสบโอกาสในการทำสิ่งไม่ดีได้ง่าย

ประการที่สี่ – ฝึกให้ลูกจดจำสิ่งต่างๆ ที่จำเป็น ทั้งโทรศัพท์ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือจำสถานที่ตั้งของบ้าน รวมไปถึงฝึกการจดจำสถานที่ใกล้เคียงกับสถานที่สำคัญ เผื่อว่าเกิดเหตุการณ์ใด แล้วสามารถบอกจุดต่างๆ ได้ เช่น จดจำชื่อซอยบ้านตัวเอง วิธีสังเกต หรือเวลาขึ้นรถแท็กซี่ควรจะจดหรือจำหมายเลขทะเบียนรถ และมองหน้าคนขับรถว่ามีจุดสังเกตใดที่จดจำได้ง่าย เมื่อฝึกเรื่อยๆ เด็กก็จะเรียนรู้และหมั่นจดจำได้โดยอัตโนมัติ

ประการที่ห้า – ฝึกให้ลูกมีสติ เพราะเวลาเกิดเหตุใดขึ้นมา ถ้าขาดสติ ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้ หรืออาจจะเป็นอันตรายด้วยซ้ำ ยกตัวอย่าง กรณีที่เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นปีที่โจรขโมยรถแล้วไม่รู้ว่ามีเด็กนอนอยู่ท้ายรถ แต่เด็กคนนั้นตั้งสติได้ดีมาก รีบปรับโทรศัพท์มือถือจากเสียงเป็นสั่นทันที เพราะรู้ว่าเดี๋ยวแม่ต้องโทรเข้ามาหาตัวเองแน่ แล้วใช้วิธีส่งข้อความหาแม่ว่าตอนนี้โจรขับรถผ่านที่ใดบ้าง และอาศัยช่วงที่โจรจอดรถ รีบวิ่งลงไปที่ร้านค้า แล้วแจ้งให้คนช่วยเหลือ จนสามารถรอดปลอดภัยได้ ตรงกันข้าม ถ้าเด็กคนนี้ขาดสติ เมื่อเห็นโจรขโมยรถแล้วเกิดร้องตะโกน เพราะกลัว เมื่อโจรเห็นก็อาจกลายเป็นอันตรายได้

ประการที่หก – ฝึกให้ลูกระมัดระวังในการรับสื่อ อย่าปล่อยให้ลูกดูทีวีโดยลำพัง พ่อแม่ควรจะอยู่ด้วยและอรรถาธิบายให้ลูกเข้าใจ โดยคำนึงถึงวัยของลูกเป็นหลัก ถ้าเด็กเล็กก็อธิบายแบบง่ายๆ ถ้าเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็สามารถอธิบายได้ซับซ้อนมากขึ้น และเพิ่มความระมัดระวังและการสังเกตเข้าไปด้วย ถ้าเป็นกลุ่มวัยรุ่น ก็ถือโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูก รวมถึงให้ลูกมีส่วนร่วมในการเสนอแนะด้วย

ประการที่เจ็ด – ฝึกให้ลูกช่วยกันดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนของตัวเอง ถ้าเห็นอะไรผิดสังเกตบอกให้ลูกแจ้งคุณครูทันที รวมไปถึงการเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติจากบทเรียนที่โรงเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องอธิบายให้ลูกฟังว่า ลูกควรตั้งใจเรียนและพยายามจดจำ ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่งอาจได้นำมาใช้จริง ดังเช่นกรณีที่เคยเกิดไฟไหม้ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา และมีคุณแม่ชาวต่างชาติคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าเธอรอดชีวิตมาได้ เพราะลูกสาววัยอนุบาลของเธอ ที่บอกว่าให้คลานต่ำๆ เวลาเกิดเพลิงไหม้ เพราะคุณครูที่โรงเรียนสอนมา และเธอก็ทำตาม จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือสองแม่ลูกในที่สุด

ประการที่แปด – ฝึกให้เห็นความสำคัญของชุมชน ชีวิตจากนี้ไปต้องคิดถึงเพื่อนบ้าน ต้องสร้างชุมชนให้เข้มแข็งให้ได้ เพราะที่ผ่านมา เราใช้ชีวิตประหนึ่งตัวใครตัวมัน บ้านใครบ้านมัน ธุระไม่ใช่ แต่หากเราสร้างชุมชนให้เกิดขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เราก็จะช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นอะไรผิดปกติ ก็ต้องบอกกัน ช่วยเหลือกัน เพราะเมื่อเกิดภัยร้าย ก็จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ อย่าหวังหรือรอการดูแลจากภาครัฐอย่างเดียว เพราะไม่มีทางจะดูแลทั่วถึงอย่างแน่นอน

ประการสุดท้าย – สร้างจิตสำนึกต่อส่วนรวมให้เกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา ถ้าเห็นภัยใดๆ ต่อหน้าต่อตา ควรสอนให้ลูกรู้จักขอความช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ดูดายกับความไม่ถูกต้อง หรือถ้ามีโอกาสใดที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ก็ควรลงมือ แต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของตัวเองด้วย

ทักษะเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของเด็กบ้านเรายังต่ำมาก เพราะส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่ก็คือค่านิยมและทัศนคติของพ่อแม่ยังคงเน้นเรื่องการเรียนวิชาการของลูกเป็นเรื่องแรกเสมอ ลองคิดดูว่าถ้าลูกเราเรียนเก่งมาก แต่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรือไม่สามารถป้องกันตัวเองเมื่อภัยมาถึงตัว แล้วคุณจะรู้สึกอย่างไร !!

ที่มา: MGR Online 12 พฤศจิกายน 2555

ข่าว-บทความ ล่าสุด
แนะนำมูลนิธิฯ