หน้าแรก 9 THE HIGHLIGHTS 9 คริสตจักรสันติพิษณุโลก

คริสตจักรสันติพิษณุโลก

คริสตจักรสันติพิษณุโลกกับการทำพันธกิจพัฒนาเด็กและเยาวชนแบบองค์รวม

คริสตจักรสันติพิษณุโลกตั้งอยู่ในอำเภอเมืองของจังหวัดพิษณุโลก เรียกได้ว่าเป็นใจกลางของเมืองเลยก็ว่าได้ เพราะใกล้วิทยาลัยครูและวิทยาลัยอาชีวะ อีกทั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างชุมชนประชาอุทิศกับชุมชนพระลือ ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัด มีบ้านเรือนและผู้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

คริสตจักรสันติพิษณุโลกมีศิษยาภิบาลที่ร่วมดำรงตำแหน่งในปัจจุบันทั้งหมด 4 คน ได้แก่ อาจารย์ เกษม จันทร์ทรง ศิษยาภิบาลอาวุโส , อาจารย์ กาบคำ จันทร์ทรง ศิษยาภิบาลอาวุโส , อาจารย์ ณัฐานุวัฒน์ ปิยะรังสรรค์ และอาจารย์ กิตติมศักดิ์  จันทร์ทรง ผู้จะมาเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของคริสตจักรให้เราได้อ่านกัน ณ ที่นี้

เริ่มต้นด้วยการเล่าย้อนไปถึงการก่อตั้ง คริสตจักรแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2520 โดยมิชชันนารีชาวฟินแลนด์ที่เข้ามามีส่วนในการประกาศและก่อตั้งมูลนิธิพระกิตติคุณสมบูรณ์ในประเทศไทย คริสตจักรจึงจัดอยู่ในสังกัดสหกิจคริสเตียน ขึ้นอยู่กับมูลนิธิพระกิตติคุณสมบูรณ์ในประเทศไทยโดยตรง แรกเริ่มมีสมาชิกประมาณ 10 คน บริบทของชุมชนในสมัยนั้นยังแทบจะไม่มีคริสเตียนเลย ผู้คนยังไม่ได้รับข่าวประเสริฐ ยากจนทั้งฝ่ายวิญญาณและความเป็นอยู่ สภาพบ้านเรือนเป็นชุมชนแออัด มีจำนวนเด็กมาก บริเวณข้างทางเป็นป่ารกร้าง ส่วนบริเวณอาคารคริสตจักรแต่เดิมเป็นทุ่งนา

หลังจากก่อตั้งมาได้ประมาณ 10 ปี คุณพ่อของอาจารย์กิตติมศักดิ์ก็เข้ามาดำรงตำแหน่งศิษยาภิบาล ต่อมาคุณแม่ของอาจารย์มองเห็นความยากจนของเด็ก ๆ ในชุมชนที่ไม่ได้ไปโรงเรียนเพราะไม่มีเงิน จึงเริ่มต้นจากการนำหนังสือและรูปภาพไปนั่งคุยกับเด็กและสอนพวกเขา คุณแม่ของอาจารย์เห็นว่า เด็กๆเหล่านี้ต้องการการสนับสนุน ซึ่งก่อนย้ายมารับใช้ที่คริสตจักรสันติพิษณุโลก ได้รับใช้กับคริสตจักรที่บางระกำและร่วมเป็นคู่มิตรกับคอมแพสชั่นมาก่อน เมื่อย้ายมารับใช้ที่นี่จึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นคู่มิตรกับคอมแพสชั่นอีกครั้ง

เมื่อเริ่มเปิดโครงการพัฒนาเด็กแบบองค์รวมกับคอมแพสชั่น มีเจ้าหน้าที่ 3 คน และเด็กในโครงการประมาณ 100 คน โดยตัวอาจารย์กิตติมศักดิ์ก็เคยเป็นอดีตเด็กในโครงการในรุ่นนั้น ในเวลานั้นคอมแพสชั่นมีนโยบายช่วยเหลือครอบครัวผู้รับใช้ อีกทั้งชุมชนก็ให้การตอบรับอย่างดี เพราะมีเรื่องการสนับสนุนทุนและช่วยเหลือด้านการศึกษาที่เยาวชนในชุมชนต้องการความช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ทำให้มีผู้คนในหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการมาร่วมพิธีเปิดโครงการอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ 3 คน อาสาสมัครเต็มเวลาอีก 3 คน และเด็กในโครงการจำนวน 198 คน หากรวมศิษย์เก่าที่จบออกไปแล้วจะนับได้พันกว่าคนตามรหัสเด็กในโครงการ ซึ่งเยาวชนที่จบออกไปแล้วบางส่วนก็ถวายตัวรับใช้เต็มเวลา บางส่วนก็กลับมาร่วมรับใช้บ้างเป็นครั้งคราว แม้เด็ก ๆ หลายคนจะจบจากโครงการไปแล้ว ผู้ปกครองรุ่นเก่าก็ยังให้การสนับสนุนกิจกรรมของคริสตจักรอยู่เสมอ

นับว่าคริสตจักรมีความน่าเชื่อถือที่ดีมากในชุมชนว่าทำงานเพื่อช่วยเหลือชุมชนจริง นอกจากได้รับการยอมรับในชุมชนและองค์กรท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นที่สนใจขององค์กรนอกพื้นที่ให้มาศึกษาดูงานในการทำพันธกิจสำหรับเด็กและเยาวชนอยู่บ่อยครั้ง

ทีมเจ้าหน้าที่โครงการ

พันธกิจในอนาคต

อาจารย์กิตติมศักดิ์กล่าวเสริมถึงมุมมองที่มีต่อพันธกิจในอนาคตข้างหน้าว่า ทางคริสตจักรมีแผนตั้งใจจะขยับขยายพันธกิจเด็กและเยาวชนที่ทำอยู่ไปเป็นการทำพันธกิจชุมชน โดยกำลังปูพื้นฐานหลายอย่างให้สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตามแนวคิดการเตรียมความพร้อมในการทำพันธกิจด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน ซึ่งมีการเริ่มเตรียมตัวมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว เริ่มจากการที่ทีมงานในโครงการทุกคนอดอาหารอธิษฐานกัน  เพื่อขอการทรงนำจากพระเจ้า ต่อมาจึงสรุปแผนงานในการทำพันธกิจเด็กและเยาวชนที่แบ่งออกเป็นด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ด้านบุคลากร

อาจารย์กิตติมศักดิ์ใช้วิธีนั่งคุยกับทีมงานในโครงการทีละคนหลังจากพ้นช่วงเวลาอดอาหารอธิษฐาน เพื่อถามความเห็นส่วนตัวและการยืนยันจากพระเจ้าที่มีต่อการรับใช้ของแต่ละคน ภายหลังอาจารย์ได้รับการตอบรับจากสมาชิกว่า ทุกคนพร้อมจะทำพันธกิจนี้ต่อไป และยังขยายนิมิตไปพัฒนาครอบครัวและชุมชนเพิ่มเติมอีกด้วย “คริสตจักรของเราทำงานกันเป็นทีม ดังนั้นจึงเน้นการทำงานร่วมกันโดยใช้หลักการ Coaching และ Motivation Gift” เขากล่าวถึงการทำงานด้วยแนวคิดสนับสนุนในการเสริมสร้างคนให้ไปถึงเป้าหมาย โดยใช้พระพรที่แต่ละคนมีแตกต่างกันในการรับใช้ตามบทบาทที่แตกต่างกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งกับตัวทีมงานและพันธกิจ

ด้านการยังชีพ

พันธกิจร้านกาแฟ : ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 4-5 ปีก่อน มีความตั้งใจเดิมคือการประกาศด้วยการเปิดร้านให้คนมาดื่มกาแฟฟรี พูดคุยกัน และเปิดเพลงคริสเตียน ซึ่งพันธกิจนี้ได้นำคนรับเชื่อในร้านกาแฟมาแล้วหลายคน ต่อมา เห็นว่า การปรับร้านกาแฟให้เป็นธุรกิจเต็มรูปแบบจะสามารถเข้ามามีส่วนในการช่วยสนับสนุนพันธกิจเด็กได้ เมื่อ 2 ปีที่แล้วจึงเริ่มทำขาย โดยนำรายได้ทั้งหมดนำเข้าพันธกิจเด็กและเยาวชน แม้จะประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่คริสตจักรก็ยังยืนหยัดจะทำต่อไป อย่างน้อยก็มีรายได้ให้ผู้รับใช้ที่ทำงานเป็นบาริสต้าและยังมีเงินหมุนเวียนในร้านกาแฟได้โดยไม่ต้องปิดกิจการ อีกทั้งยังสอนให้เยาวชนในโครงการได้มีโอกาสลองทำกาแฟด้วย ปัจจุบันมี 2-3 รุ่นแล้วที่ได้ฝึกฝนการทำกาแฟเป็นทักษะทางอาชีพ

Grace Farm พันธกิจการเกษตรอย่างยั่งยืน : คริสตจักรมองเห็นความสำคัญของการผลิตอาหารได้เอง เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะกันดารอาหารในประเทศไทย แต่เพราะตัวคริสตจักรไม่มีพื้นที่เป็นของตัวเองในการทำการเกษตร จึงเริ่มต้นด้วยการสร้างเครือข่ายและหาคนที่มีนิมิตร่วมกันมาร่วมกันทำงาน ปัจจุบันมีเครือข่ายในจังหวัดต่าง ๆ ที่ส่งผลผลิตให้คริสตจักรสันติพิษณุโลกนำมาทำการตลาดเพื่อจำหน่ายต่อหรือรับซื้อในราคาที่ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางเพื่อบริโภคเองภายในคริสตจักร ได้แก่ เครือข่ายจากจังหวัดเชียงรายที่ปลูกข้าวส่งมาให้ในพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ รวมถึงลำไย ไข่ไก่ และข้าวเหนียวปลอดสาร, เครือข่ายจากจังหวัดพิจิตรที่ปลูกข้าวออแกนิกให้ในพื้นที่ประมาณ 100 ไร่, เครือข่ายในจังหวัดพิษณุโลกที่ใช้พื้นที่ส่วนตัวของคุณแม่อาจารย์กิตติมศักดิ์ในการปลูกสับปะรดโดยไม่คิดค่าเช่า และเครือข่ายจากหมู่บ้านกลอเดย์ ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ที่มีกลุ่มผู้นำคนรุ่นใหม่ที่คริสตจักรเสริมสร้างและสนับสนุน สิบกว่าคนตกลงปลูกพืชการเกษตรในพันธกิจ เกรซฟาร์ม (Grace farm) ในจำนวน 300 กว่าไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คริสตจักรและทีมงานเรามีความต้องการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนชาวปาเกอญอบนชุมชนในพื้นที่ราบสูง จากที่แต่เดิมแถวนั้นปลูกข้าวโพดและทำไร่เลื่อนลอยก็หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น อะโวคาโดหรือแมคคาเดเมียแทน จนทำให้โครงการหลวงสนใจและติดต่อให้มาร่วมงานด้วย นี่คืองานส่วนหนึ่งที่คริสตจักรทำบนพื้นที่ราบสูง

ทุกปี เกรซฟาร์มจะผลิตข้าวเพื่อจำหน่ายและช่วยเหลือชุมชนประมาณ 4-5 ตันเพื่อให้พี่น้องในคริสตจักรและเด็กในโครงการใช้บริโภคในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดและเป็นข้าวปลอดสารพิษ เป็นการลดค่าใช้จ่ายและเตรียมพร้อมรับมือการกันดารอาหาร อีกทั้งในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ผ่านมาทำให้คนในชุมชนประสบปัญหาขาดแคลนรายได้ เมื่อไม่มีงบประมาณที่ไหนมาช่วยเหลือ คริสตจักรจึงทำการแจกจ่ายข้าวในยุ้งฉางให้ชาวบ้าน โดยนับว่าเริ่มให้ความช่วยเหลือเป็นที่แรก ๆ ของจังหวัด เพราะมีการเตรียมพร้อมมาก่อนแล้ว

Farm to Family สหกรณ์การเกษตร : เป็นพันธกิจที่วางแผนไว้ว่าจะเริ่มทำเร็ว ๆ นี้ คริสตจักรมีนิมิตในการขยายไปพัฒนาครอบครัวและชุมชน โดยการสนับสนุนให้ปลูกผักในบ้านเพื่อบริโภคเป็นหลัก ส่วนที่เหลือจึงค่อยนำมาขายให้กับคริสตจักร ซึ่งดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์การเกษตร รับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านแล้วนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าแล้วนำไปขายในตลาดที่คริสตจักรมีเครือข่ายอยู่ ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกในสหกรณ์ก็จะได้รับเงินปันผล นับเป็นการเพิ่มรายได้ในครัวเรือนและการช่วยเหลือชุมชนอย่างยั่งยืน ส่วนรายได้ของสหกรณ์การเกษตรจะนำมาพัฒนาพันธกิจพัฒนาเด็กและเยาวชนต่อไป

เครือข่ายหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นเครือข่ายหลักคือ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยประจำจังหวัดได้ตกลงรับสินค้าออแกนิกทั้งหมดจากคริสตจักรมาตั้งขายและให้ความช่วยเหลือในการแปรรูป โดยคริสตจักรจะเลือกผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาแปรรูปเป็นแคปซูลและทำการสกัดเอาน้ำออกจากผัก (Dry Freeze) เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต ด้วยการใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัย และทำงานร่วมกับสมาชิกในคริสตจักรท่านหนึ่งที่มีความสามารถทางด้านนี้และสามารถควบคุมการผลิตแบบพร้อมจดทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เลย

ส่วนที่เริ่มทำมาก่อนแล้วเป็นเวลา 3 ปี คือ การสนับสนุนให้ปลูกผักรับประทานเองในครัวเรือน คริสตจักรมีส่วนช่วยเหลือในการเตรียมดิน เมล็ดพันธุ์ และเนื่องจากคนในชุมชนเมืองส่วนมากปลูกผักเองไม่เป็น ปกติแล้วจะซื้อบริโภคกันเสียส่วนใหญ่ ทำให้คริสตจักรจัดทำวิดีโอสอนปลูกผักให้ความรู้กับคนในชุมชน ผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคทางคริสตจักรก็รับซื้อและตั้งขายบริเวณหน้าคริสตจักร ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดีในการจำหน่าย

ส่วนที่กำลังจะเริ่มทำเป็นลำดับถัดไปคือ ทำการเกษตรในรูปแบบโรงงานที่ควบคุมแสงและอุณหภูมิในบริเวณห้องรับแขกของคริสตจักรที่มีพื้นที่ 4×4 เมตร ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกผักทั่วไปที่ได้พืชผลทางการเกษตรจำนวน 4 ไร่ และการแปรรูปผลผลิต เนื่องจากห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยนเรศวรปิดใช้งานชั่วคราวเพราะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้ไม่สามารถเริ่มงานได้ แต่หากสถานที่พร้อมเปิดให้เข้าใช้เมื่อไหร่ก็จะเริ่มดำเนินการทันที

ด้านเครือข่ายและความร่วมมือ

สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด (พมจ.) : คริสตจักรใกล้ชิดกับชุมชนมาก จึงได้รับการยอมรับจาก พมจ. ให้มีอำนาจในการเข้าไปช่วยเหลือชุมชน โดยได้อบรมเจ้าหน้าที่ทุกคนในโครงการให้มีตำแหน่งเป็นอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน (อพม.) ทำให้สามารถลงชุมชนเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนได้อย่างถูกกฎหมาย และเสนอของบประมาณสำหรับครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือได้

ปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของโครงการให้ความช่วยเหลือไป 200 ครอบครัว แต่ละครอบครัวได้รับการช่วยเหลือจาก พมจ. เป็นจำนวน 2,000 บาท

สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน : คริสตจักรได้รับการยอมรับจากสถานพินิจในการทำงานช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเด็กอย่างถูกกฎหมาย เจ้าหน้าที่ในคริสตจักรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนักสังคมสงเคราะห์ โดยช่วยให้คำแนะนำในการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงชีวิต และหางานทำ

ศูนย์พัฒนาการเกษตรที่ราบสูงจังหวัดเพชรบูรณ์ : ได้รับการสนับสนุนให้ความรู้ในการปลูกพืชและมอบเมล็ดพันธุ์ให้ฟรีในเป็นจำนวน 80 ต้น ส่วนที่คริสตจักรซื้อเพิ่มเติมก็ได้ราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดมาก

เครือข่ายย่อยอื่น ๆ : เช่น ร้านกาแฟในเชียงรายที่อนุญาตให้คริสตจักรไปศึกษาดูงานและเรียนรู้การทำธุรกิจร้านกาแฟ, ร้านกาแฟในกรุงเทพฯ ที่ช่วยฝึกฝนทีมงานของคริสตจักรในการเป็นบาริสต้า และเป็นต้นแบบทางด้านธุรกิจ, คุณส้มน้องคนที่ไทยที่เปิดร้านอาหารที่ออสเตรเลียที่มาช่วยสอนการทำและมอบสูตรเบเกอรี่ให้คริสตจักร, คุณกวิน อำไพพงษ์ (พี่เดียร์)ที่สอนเรื่อง Redemptive Gifts” ให้กับกลุ่มผู้นำคริสเตียน เป็นบทเรียนที่เขาได้รับลิขสิทธิ์ในการสอนมาโดยตรง

ด้านการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม หรือการออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสม

เมื่อก่อนคริสตจักรอาศัยหลักสูตรของคอมแพสชั่นที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามสถานการณ์และนิมิตของผู้กำหนดเรื่องหลักสูตร แต่ปัจจุบันเราพัฒนาและเสริมสร้างเด็กตามลักษณะของแต่ละคนที่แตกต่างกัน จากแนวคิดที่คล้ายกับพหุปัญญา เรียกว่า “Redemptive Gifts” โดยนำบททดสอบของ Arthur Burk ซึ่งคุณกวินได้นำมาเพื่อทดสอบผู้อบรม  บททดสอบที่เกี่ยวข้องกับลักษณะนิสัย, บุคลิกภาพ, คุณค่า และความพิเศษที่ไม่เหมือนกันจากรากฐานของพระคัมภีร์ มาพัฒนาเด็กแต่ละคนตามลักษณะของเขา เหมือนเป็นการสร้างสาวกแบบเจาะจง ซึ่งมุ่งหวังผลตอบรับที่ถูกต้องสำหรับเด็ก

อาจารย์กิตติมศักดิ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “เราจะรู้จักหรือเข้าใจเด็กคนหนึ่งได้ก็ผ่านความสัมพันธ์เท่านั้น การใช้เวลากับเขา สนิทกับเขา พูดกับเขา และสำคัญที่สุดคือการฟังเขา ส่วนนี้สำคัญมากในการจะรู้ว่าเขาเป็นคนแบบไหน” เจ้าหน้าที่ในโครงการของคริสตจักรสันติพิษณุโลกต้องผ่านการเรียน “Redemptive Gifts”และการเรียนเรื่อง โคชชิ่ง อย่างเข้มข้นกันทุกคนเพื่อจะสามารถนำหลักการนี้มาประยุกต์ใช้กับเด็กแต่ละคนได้ ต้องขอบคุณพระเจ้าที่เรามีบุคลากร ซึ่งก็คือคุณกวิน อำไพพงษ์ หรือ พี่เดียร์ที่มาช่วยสอนเรื่องนี้ให้

ศิษยาภิบาล : อาจารย์ กิตติมศักดิ์ จันทร์ทรง

“ฤดูกาลใหม่”
ศิษยาภิบาล : อาจารย์ กิตติมศักดิ์  จันทร์ทรง

อาจารย์ กิตติมศักดิ์ จันทร์ทรง ศิษยภิบาล

จังหวะของชีวิตที่ผลัดเปลี่ยนเสมือนฤดูกาลทำให้เรามีโอกาสได้เห็นถึงการทรงนำของพระเจ้าที่เกิดขึ้นอย่างพอเหมาะพอดีในแต่ละช่วงเวลา นี่เองที่แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงรู้จักเราแต่ละคนมากกว่าที่เราแต่ละคนจะสามารถรู้จักตัวเองได้เสียอีก และแน่นอนว่าพระองค์มีแผนงานที่ดีเตรียมพร้อมไว้สำหรับเราเสมอ ดังเช่นฤดูกาลที่ผันเวียนเพื่อให้เกิดการผลิดอกออกผลอย่างงดงามในท้ายที่สุด สิ่งนี้ปรากฏชัดผ่านตัวอย่างคำพยานที่มีชีวิต เรื่องราวของ อาจารย์ กิตติมศักดิ์ จันทร์ทรง ผู้ดำรงตำแหน่งศิษยาภิบาลประจำคริสตจักรสันติพิษณุโลกคนปัจจุบัน

อาจารย์ กิตติมศักดิ์ จันทร์ทรง เกิดในครอบครัวคริสเตียนที่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นผู้รับใช้ เขาตัดสินใจรับเชื่อด้วยตัวเองเมื่ออายุได้ 14 ปี ในช่วงวัยที่เรียกได้ว่ากำลังค้นหาตัวตน เขาได้สัมผัสประสบการณ์พิเศษกับพระเจ้าระหว่างการเข้าค่ายอนุชน โดยรับรู้ถึงการทรงเรียกของพระองค์เป็นครั้งแรกและนั่นเองที่ทำให้เขาตัดสินใจนำพาชีวิตของตัวเองเข้าสู่ “ฤดูกาลใหม่” ด้วยการต้อนรับพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิต ก่อนจะตั้งมั่นเดินในทางของพระองค์

เมื่ออายุได้ 22 ปี อาจารย์กิตติมศักดิ์จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ เอกพืชศาสตร์ แล้วเริ่มเข้าทำงานกับคอมแพสชั่นในการทำพันธกิจพัฒนาเด็กและเยาวชนแบบองค์รวมของคริสตจักร ทั้งที่สิ่งนี้อยู่ห่างจากความจากความคาดหมายที่จะทำงานบริษัทในด้านที่เรียนจบมาของเขาไปมาก เขาเคยบอกกับตัวเองไว้ว่าจะไม่เป็นศิษยาภิบาลเด็ดขาด แต่ฤดูกาลที่เปลี่ยนผ่านเข้ามาในชีวิตก็ทำให้เขาตัดสินใจทำงานรับใช้ด้วยการทรงนำของพระเจ้า

เป็นเวลา 9 ปีเต็มที่เขาทำงานกับคอมแพสชั่น ก่อนที่พระเจ้าจะเรียกให้เขามารับใช้ในส่วนงานของคริสตจักรอย่างเต็มรูปแบบด้วยการเป็นอาจารย์ในคริสตจักร ทำงานร่วมกับ อาจารย์ ณัฐานุวัฒน์ ปิยะรังสรรค์ จากนั้นคริสตจักรก็เริ่มเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนแปลงฤดูกาล ซึ่งเป็นจังหวะพอดีกับที่การทำงานในคอมแพสชั่นจะเปลี่ยน คริสตจักรต้องเริ่มวางแผนการเตรียมความพร้อมในการทำพันธกิจด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน การยืนยันหลายรูปแบบจากพระเจ้าที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นทำให้คุณพ่อของเขาเห็นว่าคริสตจักรจะต้องเข้าสู่ “ฤดูกาลใหม่” ในอีกไม่ช้า และตัวท่านไม่สามารถมองเห็นฤดูกาลนี้ได้ จึงตัดสินใจเตรียมตัวถอยมาเป็นที่ปรึกษาในตำแหน่งศิษยาภิบาลอาวุโส แล้วให้อาจารย์กิตติมศักดิ์กับอาจารย์ณัฐานุวัฒน์ดำรงตำแหน่งศิษยาภิบาลด้วยกัน

อาจารย์กิตติมศักดิ์ ใช้เวลาดูแลเสริมสร้างคริสตจักรมาเป็นเวลาราว 13 ปี เขากล่าวว่า “ช่วงนั้นเหมือนกำลังเดินอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่สุดท้ายแล้วพระเจ้าก็นำคริสตจักรเข้าสู่ฤดูกาลใหม่แบบก้าวกระโดด สิ่งที่เราได้เรียนรู้มันเปลี่ยนเราอย่างน่าอัศจรรย์ เราเปลี่ยนรูปแบบการนำของคริสตจักรใหม่ นั่นจึงเป็นประเด็นของฤดูกาลนี้ ที่ผมได้เข้ามารับใช้ต่อ”

ปัจจุบัน อาจารย์กิตติมศักดิ์กับอาจารย์ณัฐานุวัฒน์ดำรงตำแหน่งศิษยาภิบาลร่วมกันมา 4 ปีแล้ว เขาทำงานรับใช้ตามภาระใจที่มีกับการพัฒนาเด็กร่วมกับภรรยาที่เป็นเจ้าหน้าที่ในโครงการด้วยความตั้งใจที่อยากดูแลเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไปถึงเป้าหมายที่พระเจ้ามีในชีวิตได้ ผ่านคำหนุนใจ การรับฟัง และการเดินเคียงข้างไปกับพวกเขาให้ได้พัฒนาของประทานที่แต่ละคนมีแตกต่างกัน จนเกิดผลงอกงามในฤดูกาลหน้าที่กำลังจะมาถึง

“คอมแพสชั่นมีส่วนในการส่งเสริมคริสตจักรอย่างมากตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงตอนนี้ แน่นอนว่าคอมแพสชั่นมีจุดสิ้นสุดในการทำพันธกิจ แต่เราขอบคุณพระเจ้าที่คอมแพสชั่นเป็นบันไดขั้นแรกให้กับเรา ส่วนขั้นที่สอง สาม สี่ เราจะก้าวต่อไปได้ด้วยตัวเอง” อาจารย์กิตติมศักดิ์กล่าวถึงมุมมองในการทำพันธกิจร่วมกับโครงการ เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ขั้นแรกเป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะมันยากในการเริ่มต้น แต่พอได้ผ่านขั้นแรกมาแล้วเราจะมองเห็นขั้นต่อไปได้ชัดขึ้น นี่คือสิ่งที่เขาขอบคุณพระเจ้าเสมอ

นอกจากการทำพันธกิจพัฒนาเด็กและเยาวชนแล้ว ส่วนที่ตัวอาจารย์และคริสตจักรจะมุ่งหน้าขยายพันธกิจที่แต่เดิมได้แตะต้องมาบ้างคือ “การพัฒนาชุมชน” ด้วยเป้าหมายสร้างความเปลี่ยนแปลงและการพลิกฟื้นผ่านนิมิตการปลดปล่อยความยากจน 4 ด้าน ได้แก่ ความยากจนด้านวิญญาณ, ความยากจนด้านวัตถุ, ความยากจนด้านความสัมพันธ์ และความยากจนด้านโอกาส ซึ่งอาจารย์เองเห็นว่า หากอย่างใดอย่างหนึ่งถึงเริ่มต้นขึ้นแล้ว ด้านที่เหลือก็จะถูกพัฒนาตามไปด้วย และทุกอย่างจะสิ้นสุดลงที่การขยายอาณาจักรของพระเจ้า ตัวเขาหวังเหลือเกินว่าคริสตจักรสันติพิษณุโลกจะสามารถทำให้ชุมชนแห่งนี้ก้าวเข้าสู่ “ฤดูกาลใหม่” ที่มีพระเจ้าเป็นผู้ทรงนำ

ศิษย์เก่า : เบล-ณัฐดาพร แก้วกันทะ

ศิษย์เก่า
“ความสุขในอ้อมกอด”
เบล-ณัฐดาพร  แก้วกันทะ

นางสาว ณัฐดาพร แก้วกันทะ หรือ เบล ปัจจุบันอายุ 31 ปี ทำงานเป็นอาสาสมัครในโครงการ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขร่วมกับครอบครัวที่ประกอบด้วยสามีและลูกชายวัย 1 ปี เธอเป็นศิษย์เก่าที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่อายุได้ 2 ปี จากการที่ผู้จัดการโครงการชักชวนแม่ของเธอให้มาร่วมนมัสการที่คริสตจักรในวันอาทิตย์ และในเวลาต่อมา โครงการแห่งนี้เองที่มอบโอกาสสร้างความสุขให้กับชีวิตของเธออย่างมาก เหมือนว่าอ้อมกอดของพระเจ้ามาในรูปแบบของพี่ ๆ ที่คอยดูแลเธอเสมอ และของเด็ก ๆ ที่เธอเองมีภาระใจในการดูแลอยู่

โครงการคอมแพสชั่นทำให้เบลได้มีโอกาสรู้จักกับพระเจ้า เธอตัดสินใจรับเชื่อตอนศึกษาอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 1 ระหว่างค่ายที่โครงการจัดขึ้นในจังหวัดเพชรบูรณ์ ตอนนั้นเองที่เธอสัมผัสได้ถึงความสุขของการนมัสการพระเจ้า เป็นความสุขที่ได้ยืนอธิษฐานและร้องเพลงพลางหวนนึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตที่พระเจ้าสอน

โครงการคอมแพสชั่นทำให้เบลรู้จักตัวเอง ตอนยังเด็กเธอไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร จนกระทั่งพี่นก ซึ่งเป็นผู้จัดการในโครงการลองให้เธอฝึกร้องเพลง เธอยังจำได้จนทุกวันนี้เลยว่าเพลงแรกที่ฝึกชื่อ “ไม่ได้มอง” เพราะได้รับคำชมเชยจากพี่นกว่าร้องเพลงเพราะ นี่คือตัวอย่างความสามารถที่เธอค้นเจอในโครงการ พื้นที่ที่ทำให้เธอได้ลองและรู้ว่าตัวเองเหมาะกับอะไร ถนัดอะไร และต้องฝึกฝนอย่างไร จนได้ร่วมร้องเพลงในทีมนมัสการ

โครงการคอมแพสชั่นทำให้เบลได้รับชีวิตใหม่ เธอเล่าว่า ตัวเองเคยทำเรื่องผิดพลาดมาก่อนจนค่อย ๆ ห่างจากพระเจ้าเพราะความรู้สึกบาป เธอรู้ดีว่าทำในสิ่งที่ผิดจึงไม่อยากมาโบสถ์ด้วยความคิดด้านลบที่คอยบอกกับเธอว่า “ที่นี่คงไม่ต้องการเราแล้ว” แต่พี่ ๆ ที่โครงการก็ดึงกลับมา ความจริงที่ว่าทุกคนรอคอยให้กลับมาเสมอทำให้เธอรู้สึกเหมือนได้รับอ้อมกอดทุกครั้งที่เจอกัน

โครงการคอมแพสชั่นทำให้เบลได้เรียนรู้ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เธอได้เรียนรู้จากโครงการ ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กในโครงการจนถึงตอนนี้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ก็ยังได้เรียนรู้อยู่เสมอ หลัก ๆ เลยคือการมีต้นแบบชีวิตคือพี่ ๆ ในโครงการที่ทำงานด้วยกัน ทำให้เธอได้เรียนรู้เรื่องการมีชีวิตครอบครัวและการเลี้ยงดูลูก ถึงแม้ว่าแต่ละครอบครัวจะมีชีวิตที่แตกต่าง แต่ก็มักจะแลกเปลี่ยนเพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือดูแลกันเสมอ

โครงการคอมแพสชั่นทำให้เบลพบความสุขในการรับใช้ เธอมีความสุขกับงานปัจจุบันที่ได้สอนรวี ช่วยจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ เรียกได้ว่าบรรลุจุดมุ่งหมายในการรับใช้เลยก็ว่าได้ เพราะเธอพบว่าตัวเองมีภาระใจในการทำงานกับเด็กมาก่อนแล้ว นอกจากนี้เธอยังช่วยทำสื่อการเรียนการสอนแบบคลิปวิดีโอ ซึ่งคนรอบข้างต่างกล่าวว่าเป็นของประทานที่เธอมีให้กับโครงการอีกด้วย

ศิษย์เก่า : บี-อภิญญา พรหมชาติ

ศิษย์เก่า
“เส้นทางที่เลือกเอง”
บี-อภิญญา  พรหมชาติ

นางสาว อภิญญา พรหมชาติ หรือ บี เป็นหนึ่งในอดีตสมาชิกโครงการคอมแพสชั่นที่เข้าโครงการมาตั้งแต่ยังเด็ก แม่ของเธอพามาสมัครเข้าร่วมเพื่อเป็นสมาชิกตามคำเชิญชวนของคนในหมู่บ้านตอนบีอยู่ในวัย 5 ปี แม้ครอบครัวจะไม่ได้เป็นผู้เชื่อ แต่แม่ก็เห็นว่า บีจะได้รับโอกาสและการพัฒนามากมายจากที่แห่งนี้

การได้ยินได้ฟังเรื่องพระเจ้าบ่อยครั้ง ทำให้เธอมีพื้นฐานความเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง เธอตั้งใจจะรับเชื่อตั้งแต่เรียนอยู่ประถมศึกษาปีที่ 4 แต่ไม่ได้รับการอนุญาตจากพ่อแม่ ด้วยความที่ยังเด็กเธอจึงตามพ่อแม่ในทางปฏิบัติ จนกระทั่งอายุได้ 15 ปี ก็ตัดสินใจเลือกเส้นทางของตัวเองด้วยการรับเชื่อจากประสบการณ์ส่วนตัวที่สัมผัสได้ว่าพระเจ้าทรงอยู่ด้วย ทางครอบครัวก็ไม่คัดค้าน เพราะเห็นว่าเธอโตแล้วและเป็นเด็กดี ไม่เคยสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้พ่อแม่เลย อีกทั้งโครงการก็คอยดูแลเธอมาตลอดให้อยู่ในร่องในรอย

เรียกได้ว่าบีเป็นเด็กติดโบสถ์ เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการใช้ชีวิตในโครงการมาตั้งแต่เด็กทำให้ที่นี่เป็นเหมือนกรอบในการใช้ชีวิตของเธอ เป็นเส้นที่ฝึกให้เธอไม่เดินออกนอกลู่นอกทางไปจากพระเจ้า มีพี่ ๆ ในโครงการเป็นที่ปรึกษาให้ในทุกเรื่อง อีกทั้งยังได้รับโอกาสในการเรียน การฝึกทักษะ ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง แม้กระทั่งต้นแบบในการใช้ชีวิตเธอก็ยังเลือกรุ่นพี่ในโครงการคนหนึ่งที่เธอเฝ้าสังเกตการใช้ชีวิตของเขา เธอเห็นว่าเขาเป็นเด็กดี รักพระเจ้า เรียนเก่ง และเป็นแบบอย่างที่ดีให้รุ่นน้อง ทำให้เธอมองสิ่งเหล่านี้เป็นความสำเร็จในการใช้ชีวิต

จุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในวัยมัธยมปลายของบีคือการตัดสินใจเรียนต่อ ระหว่างที่ต้องตัดสินใจเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยโดยที่เธอยังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอะไร สิ่งที่เธอเลือกทำคือการอธิษฐานกับพระเจ้าเพื่อขอการทรงนำให้เธอพบสิ่งที่เหมาะสม และพระเจ้าก็มอบคำตอบให้ผ่านคำปรึกษาของรุ่นพี่ในโครงการ เธอได้รู้ว่าตัวเองมีความสุขในการทำงานกับเด็กด้อยโอกาส บีจึงตัดสินใจศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาสังคม

เมื่อเรียนจบปริญญาตรี บีก็ถวายตัวรับใช้ เข้าทำงานเป็นอาสาสมัครในโครงการคอมแพสชั่นที่เธอเติบโตมา

ปัจจุบันบีอายุ 29 ปี ขยับมารับใช้เต็มเวลาในตำแหน่งครูรวีของโครงการ นอกจากนี้ยังรับใช้ในทีมนมัสการกับทีมมีเดีย ดำรงตำแหน่งประธานอนุชน, คณะกรรมการอนุชนในพิษณุโลก และเป็นประธานเขตในงานด้านอนุชนของจังหวัดพิษณุโลก สำหรับเขต 6 ซึ่งรวมหลายคริสตจักรในเครือพระกิตติคุณอีกด้วย

เธอขอบคุณพระเจ้าเสมอที่มอบความสามารถในการตัดสินใจให้เธอสามารถเลือกเส้นทางของตัวเองได้ โดยเธอเองก็เลือกที่จะเดินตามน้ำพระทัยของพระองค์ และขอบคุณที่พระเจ้าประทานภาระใจในการทำงานกับเด็ก ทำให้เธอมีความสุขในการทำงานนี้ “แม้จะเหน็ดเหนื่อย แต่ก็เป็นการเหนื่อยที่มีความสุข” เธอกล่าวถึงความใฝ่ฝันของตัวเองเพิ่มเติมว่า ถึงไม่มีโครงการแล้ว เธอก็อยากให้ตัวเองยังอยู่ที่นี่ ทำงานกับน้อง ๆ คอยสร้าง คอยดูแลพวกเขาให้เป็นกลุ่มอนุชนที่เข้มแข็ง ด้วยความคาดหวังให้อนาคตของคริสตจักรไม่หมดรุ่นไป

ข่าว-บทความ ล่าสุด
แนะนำมูลนิธิฯ