หน้าแรก 9 THE HIGHLIGHTS 9 คริสตจักรนับพระพรอุมโล๊ะ

คริสตจักรนับพระพรอุมโล๊ะ

คริสตจักรนับพระพรอุมโล๊ะ

คริสตจักรนับพระพรอุมโล๊ะตั้งอยู่ใน ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลักษณะของหมู่บ้านเป็นชุมชนขนาดกลาง ประกอบด้วยประชากรทั้งหมด 74 หลังคาเรือน ประชากรในพื้นที่ส่วนมากเป็นชาวพม่าที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาพักอาศัยและตั้งรกรากจึงนับถือศาสนาพุทธเป็นหลักและนับถือผีตามประเพณีดั้งเดิม คริสตจักรเริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2552 ในสังกัดสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย เริ่มต้นมีสมาชิกเพียง 5 ครอบครัว รวมทั้งหมดจำนวน 16 คน

ย้อนไปช่วงก่อนจะมาเป็นคริสตจักรแห่งนี้ ด้วยนิมิตและภาระใจของผู้นำที่เกิดจากการพบเห็นความยากลำบากของเด็กในชุมชน ทั้งขาดแคลนความรู้และอาหารการกิน จึงทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นคู่มิตรกับมูลนิธิดรุณาทรด้วยการเข้าร่วมกับคริสตจักรบ้านนาดอย โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้รับการปลดปล่อยจากความทุกข์ยากลำบาก เรียกได้ว่า คริสตจักรนับพระพรอุมโล๊ะเข้าร่วมเป็นคู่มิตรกับคอมแพสชั่นตั้งแต่ก่อนรับการแต่งตั้งเป็นคริสตจักรเสียอีก เริ่มแรกมีเด็กที่ลงทะเบียนในโครงการประมาณ 60 คน ภายหลังเมื่อคริสตจักรได้รับการแต่งตั้งและแยกออกมาลงทะเบียนโครงการเองมีเด็กที่ลงทะเบียนในโครงการ 150 คน มีเจ้าหน้าที่ 3 คน

ผลจากการทำพันธกิจเด็กและเยาวชนแบบองค์รวม

ปัจจุบันคริสตจักรนับพระพรอุมโล๊ะอยู่ในความดูแลของ อาจารย์ สันติสุข พิมานประภา ผู้ดำรงตำแหน่งศิษยาภิบาลรักษาการ เป็นคู่มิตรกับคอมแพสชั่นมากว่า 13 ปีแล้ว ได้รับการช่วยเหลือทั้งด้านองค์ความรู้และทักษะในการพัฒนาเด็กแบบองค์รวมจนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเด็ก ๆ ทั้งด้านการศึกษา ด้านทักษะสังคม ด้านสุขภาพร่างกาย และด้านจิตวิญญาณ ดังเช่นตัวอย่างคำพยานของศิษย์เก่า คุณปรีราณี สัญจรไพร และคุณสุรศักดิ์ นรากรชัย ที่จะได้อ่านในตอนท้ายของบทความนี้

เมื่อผู้คนในชุมชนได้เห็นผลของการพัฒนาที่เกิดขึ้นในชีวิตของลูกหลานจึงเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือกับคริสตจักรมากขึ้นตามไปด้วยและยังเปิดใจในการรับข่าวประเสริฐ ปัจจุบันคริสตจักรมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 135 คน และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ ส่วนโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนแบบองค์รวมขณะนี้มีเด็กในโครงการจำนวน 440 คน มีเจ้าหน้าที่ 9 คน

การเตรียมความพร้อมในการทำพันธกิจด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน

อาจารย์สันติสุข กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการทำพันธกิจด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนว่า ตัวเขาและผู้ปกครองของเด็กร่วมกันคิดตั้งพันธกิจเพื่อสร้างรายได้ขึ้นมาหลายพันธกิจ เนื่องจากมองเห็นความสำคัญในส่วนนี้ว่าคริสตจักรจำเป็นต้องดูแลตัวเองได้หากไม่มีโครงการหรือเงินสนับสนุนจากที่ต่าง ๆ อีกทั้งการตั้งพันธกิจเพื่อสร้างรายได้ยังสามารถสร้างอาชีพให้เยาวชนที่จบจากโครงการได้อีกด้วย เพราะที่ผ่านมา ศิษย์เก่ามักจะย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมือง เนื่องจากในชุมชนไม่มีงานทำ ทำให้ไม่มีรุ่นต่อไปคอยดูแลพัฒนาชุมชนและรับใช้ที่คริสตจักรต่อ ดังนั้น การสร้างอาชีพจะทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเกิดได้จึงมีความจำเป็น ปัจจุบันคริสตจักรมีพันธกิจที่เตรียมความพร้อมด้านการยังชีพทั้งหมด 8 พันธกิจ ดังนี้ พันธกิจร้านตัดผม พันธกิจร้านกาแฟ พันธกิจร้านอาหารสด พันธกิจปลูกกล้วย พันธกิจกล้วยฉาบ พันธกิจปลูกบุก พันธกิจโรงน้ำแข็ง พันธกิจเลี้ยงแพะ ซึ่งทั้งผู้นำคริตจักร สมาชิกคริสตจักร เยาวชนและผู้ปกครอง ได้มีส่วนในการบริหารและดำเนินการพันธกิจยังชีพเหล่านี้ และช่วยกันบริหารจัดการผลกำไรเพื่อยังชีพและการถวายผลกำไรส่วนหนึ่งสำหรับการดำเนินงานพันธกิจพัฒนาเด็กและเยาวชน

 

นอกจากการเตรียมความพร้อมด้านการยังชีพที่โดดเด่นมาก ๆ แล้ว อาจารย์สันติสุขยังกล่าวถึงด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกว่า

ในด้านบุคลากร ทุกคนยังมีภาระใจในการทำพันธกิจสำหรับเด็กและเยาวชนต่อไป โดยมีเจ้าหน้าที่บางส่วนหารายได้จากการทำธุรกิจส่วนตัว และอีกส่วนมาร่วมทำงานในกิจการของพันธกิจเตรียมความพร้อมด้านการยังชีพตามที่คริสตจักรจัดสรรให้

 

ส่วนด้านอาคารสถานที่ นับว่าคริสตจักรค่อนข้างมีความพร้อมเพราะมีการดูแลบำรุงรักษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่ก่อนแล้ว ปัจจุบันมีโรงอาหารและห้องประชุม อีกทั้งได้รื้ออาคารโบสถ์หลังเดิมเพื่อสร้างโบสถ์ใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

ด้านเครือข่ายและความร่วมมือ มีการร่วมมือกับหลายองค์กร ทั้งโรงเรียนในพื้นที่ที่ร่วมจัดกิจกรรมตามวันสำคัญต่าง ๆ , มูลนิธิโซเอที่มอบอาหารแห้งสำหรับเด็กที่ขาดแคลน , คริสตจักรสะพานเหลืองที่สนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็กที่อยากศึกษาต่อด้านพระคำภีร์ , ชมรมอ๊อฟโรดที่ร่วมระดมทุนในการสร้างอาคารสถานที่ , หน่วยงานของภาครัฐ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลที่จัดกิจกรรมให้เยาวชนร่วมกับคอยสนับสนุน “เยาวชนเข้มแข็ง” กลุ่มของเยาวชนในชุมชน และให้งบประมาณเพื่อช่วยเหลือพันธกิจส่งเสริมอาชีพ , มูลนิธิพระพรไทย (CBN) ที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในด้านการประกาศ , อนามัยท้องถิ่นที่สนับสนุนเรื่องยาและการตรวจสุขภาพ , หน่วยงานราชการในพื้นที่ที่ร่วมติดต่อประสานงานเพื่อการประกาศต่าง ๆ , กลุ่มศิษย์เก่าที่ร่วมระดมทุนถวายให้โครงการ และ ศูนย์ร้องเรียนสิทธิเด็กที่ให้ข้อมูลความรู้และมอบความช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเด็กเสมอมา

 

ส่วนสุดท้าย ด้านการออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับเยาวชน คริสตจักรได้นำเอาบทเรียนการสร้างสาวกของคริสตจักรระดับเขต ในเขตเบธเลเฮม (ประกอบด้วย 17 คริสตจักร 35 กิ่ง 30 กว่าหมวด) มาใช้ เนื่องจากผู้ปกครองบางคนไม่ใช่คริสเตียน และเพื่อเสริมสร้างเยาวชนคริสเตียนให้มีความเป็นผู้นำและมีความคิด โดยประกอบกับหลักสูตรพัฒนาเด็กแบบองค์รวม ซึ่งอาจารย์สันติสุขได้กล่าวเสริมว่า เด็กที่ได้รับการเสริมสร้างมาแล้วมักจะมีความเป็นห่วงและไม่ทอดทิ้งชุมชน สุดท้าย พวกเขาจะกลับมามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและคริสตจักรเสมอ

จากใจศิษยาภิบาล - อาจารย์ สันติสุข พิมานประภา

ผมชื่อ สันติสุข พิมานประภา เติบโตมาในหมู่บ้านห้วยนา จังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดในครอบครัวที่ไม่ได้เป็นคริสเตียน เรียกได้ว่า เป็นเด็กที่พ่อแม่ไม่ต้องการ ทำให้มีชีวิตวัยเด็กที่ไม่ดีเท่าไรนัก ถูกปล่อยทิ้งไว้กับบ้านข้าง ๆ จนกลายเป็นเด็กขี้โรคเพราะไม่ได้รับการดูแล

ผมได้รู้จักพระเจ้าตอนที่เจอผู้รับใช้เข้ามาทำงานในหมู่บ้าน เลยเห็นเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิต อยากดีดกีตาร์ร้องเพลงนมัสการแบบนั้นบ้าง ทำให้ค้นพบตัวเองว่ามีภาระใจในงานรับใช้ จึงตัดสินใจไปศึกษาต่อด้านพระคัมภีร์ที่พระวจนะแห่งชีวิต ในอำเเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ พอจบการศึกษาอาจารย์ก็นำให้มารับใช้ที่คริสตจักรแห่งนี้ เริ่มจากการเป็นผู้ประกาศประจำคริสตจักรก่อน แล้วจึงได้รับการแต่งตั้งจากสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยมาเป็นศิษยาภิบาลในปี พ.ศ.2556 และดำรงตำแหน่งมาจนปัจจุบัน

ณ ตอนนี้ ผมมีสมาชิกในครอบครัวทั้งหมด 3 คน ภรรยาทำงานรับใช้ โดยสอนรวีเป็นหลักและออกบทเรียนให้ครูรวีในเขตเบธเลเฮม ทำงานร่วมกับทั้ง 17 คริสตจักร ลูกสาวเป็นศิษย์เก่าที่กลับมาทำงานกับโครงการและมีส่วนในการช่วยดูแลพันธกิจกล้วยฉาบ ส่วนตัวผมเองก็ยังมุ่งมั่นตั้งใจจะรับใช้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนต่อไป เพราะประสบการณ์ตอนเด็กที่เคยลำบากมาก่อนทำให้ผมคิดว่านี่คือพระพรที่พระเจ้ามอบให้ ผมเห็นความสำคัญของการมีพี่เลี้ยงมาก ถ้าไม่มีพี่เลี้ยงคอยสนับสนุนในฝ่ายจิตวิญญาณก็อาจทำให้หลงทางได้ ผมจึงอยากเป็นพี่เลี้ยงที่จะคอยช่วยให้เด็ก ๆ เลือกทิศทางชีวิตของตัวเองอย่างถูกต้อง

ความภูมิใจในการรับใช้ของผมคือการที่ชุมชนให้การยอมรับและสนับสนุน ต่างกับช่วงแรกที่ผมเข้ามาทำงานใหม่ ๆ แล้วคนในชุมชนไม่ค่อยยอมรับและไม่ให้ความเชื่อถือ เพราะผมเป็นคนหนุ่มอายุยังน้อยที่เป็นคริสเตียนคนเดียวในหมู่บ้าน ด้วยความเชื่อที่ต่างกันทำให้การประกาศเป็นเรื่องยาก กระทั่งทุกวันนี้ คริสตจักรเติบโตมากขึ้น สมาชิกมากขึ้น มีคนช่วยงานรับใช้มากขึ้น ทำให้ผมรู้สึกว่าได้รับความรักและความห่วงใยจากคนในชุมชนมากขึ้นตามไปด้วย สิ่งนี้เองที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ผมทำงานรับใช้ต่อไป และหวังว่าในอนาคต คริสตจักรนับพระพรอุมโล๊ะแห่งนี้จะเป็นพระพรกับชุมชนอื่น ๆ ต่อไปด้วย

คำพยานศิษย์เก่า - ปรีราณี สัญจรไพร

“การที่พระเจ้าดูแลชีวิตของหนูอย่างดีทำให้หนูมีการรับใช้เป็นเป้าหมายชีวิต โดยตั้งใจว่าจะรับใช้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนเพื่อเป็นพระพรให้คนอื่น ๆ ต่อไป”

หนูชื่อ ปรีราณี สัญจรไพร ปัจจุบันอายุ 18 ปี ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในโครงการคอมแพสชั่นและช่วยดูแลพันธกิจกล้วยฉาบ เป็นศิษย์เก่าที่ลงทะเบียนกับโครงการตั้งแต่ตอนอายุ 3-4 ปี ด้วยการชักชวนจากเจ้าหน้าที่ในคริสตจักรจนทำให้ได้มีโอกาสรู้จักพระเจ้าในที่สุด

หนูเริ่มรู้จักพระเจ้าจากการเรียนชั้นเรียนรวีในโครงการ เมื่อได้รู้จักผ่านพระวจนะและทำความเข้าใจเรื่องราวของพระเจ้ามากขึ้นจึงทำให้อยากใช้ชีวิตในทางของพระเจ้า จนกระทั่งตัดสินใจรับเชื่อเมื่ออายุได้ 12 ปี หลังจากเรียนจบระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนล่องแพวิทยาและจบจากโครงการในเวลาไล่เลี่ยกัน หนูก็ตัดสินใจเลือกเรียนต่อพระคัมภีร์ที่  Christ to Thailand ในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ แล้วจึงกลับมาทำงานในโครงการอย่างปัจจุบัน

หนูมองว่าตัวเองได้รับการสนับสนุนมากมายจากโครงการ จากที่เมื่อก่อนไม่มีอะไรเลย เรียกได้ว่าขาดแคลนไปเสียทุกอย่าง ทั้งของใช้ เสื้อผ้า และอาหาร โครงการมีส่วนในการช่วยเหลือเยอะมาก ๆ และที่สำคัญคือการช่วยเหลือด้านจิตวิญญาณ ทำให้หนูได้เรียนรู้พระคำของพระเจ้าและหลุดพ้นจากความยากลำบากมาได้ กลายเป็นพระพรที่พระเจ้ามอบให้ผ่านการสนับสนุนเหล่านี้ ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้ปัจจุบันหนูมีชีวิตครอบครัวที่มีความสุข สมาชิกทั้ง 5 คนในบ้าน ประกอบด้วยยายและพี่น้องอีก 3 คน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น พี่สาวของหนูก็ทำงานรับใช้ในคริสตจักร ส่วนน้องสาวก็ได้เรียนหนังสือ

การที่พระเจ้าดูแลชีวิตของหนูอย่างดีทำให้หนูมีการรับใช้เป็นเป้าหมายชีวิต โดยตั้งใจว่าจะรับใช้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนเพื่อเป็นพระพรให้คนอื่น ๆ ต่อไป

คำพยานศิษย์เก่า - สุรศักดิ์ นรากรชัย

ผมชื่อ สุรศักดิ์ นรากรชัย ชื่อเล่นชื่อ เปา เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการตั้งแต่ช่วง ป.2 จากการประกาศและชักชวนของเจ้าหน้าที่ที่มาประกาศในละแวกบ้าน ครอบครัวของผมที่สมาชิกทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วย พ่อ , แม่ , พี่สาว , ผม และน้องชาย ทั้งพ่อและแม่ประกอบอาชีพชาวไร่ชาวนา แต่เดิมนับถือศาสนาพุทธจนกระทั่งผมมีโอกาสได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากโครงการ

โครงการคอมแพสชั่นทำให้ผมได้รับพระพรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นั่นคือ “ความรอด” ผมได้เรียนรู้เรื่องราวของบุคคลในพระคัมภีร์หลายคน ไม่ว่าจะเป็นโยเซฟ ดาวิด หรือยาโคบ จากชั้นเรียนรวีในวันอาทิตย์ ซึ่งผมรู้สึกชื่นชอบและสนใจจะเรียนรู้เรื่องเพิ่มเติมจนเริ่มเข้าร่วมชั้นเรียนที่ยากขึ้น พอเข้าใจเรื่องความรอดจึงตัดสินใจรับเชื่อในช่วง ม.1

นอกจากได้เรียนรู้เรื่องพระเจ้าแล้ว ผมก็ยังได้รู้จักตัวเองมากขึ้นจนเริ่มมีความใฝ่ฝันในชีวิต ต้องบอกก่อนว่า ผมเป็นคนกล้าแสดงออก พอได้เห็นพี่ ๆ ผู้รับใช้และอาจารย์ที่ใช้ความกล้าแสดงออกมารับใช้ในงานพิธีกรเลยอยากเป็นแบบนั้นบ้าง มองเห็นพวกเขาเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิต คิดว่าถ้าหมดรุ่นพี่ ๆ ไปก็อยากรับช่วงต่อในงานส่วนนี้ จึงไปเรียนสันทนาการเพราะมีเป้าหมายว่าวันหนึ่งจะเป็นผู้นำในด้านนี้ให้ได้

เมื่อเรียนจบในระดับชั้นมัธยมปลาย ผมตัดสินใจศึกษาต่อที่พระคริสตธรรมพระวจนะแห่งชีวิตในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะย้ายกลับมาทำงานที่บ้านเกิดอย่างทุกวันนี้ ปัจจุบันผมทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในโครงการ คอยติดตามเยาวชนที่ย้ายเข้ามาเรียนในเมืองควบคู่ไปกับการดูแลพันธกิจร้านอาหารสด ในส่วนของงานรับใช้ก็รับตำแหน่งหัวหน้าอนุชนและเป็นทีมนมัสการของคริสตจักร

ความใฝ่ฝันในการรับใช้ด้านสันทนาการของผมยังอยู่ในใจ แม้จะผ่านมาสิบกว่าปีแล้วก็ตาม แต่เป้าหมายในการรับใช้ของผมที่เพิ่มขึ้นคือการประกาศข่าวประเสริฐและนำผู้คนมารับเชื่อ ผมอยากรับใช้พระเจ้า อยากเจอผู้คนที่หลากหลายทั้งที่เป็นคริสเตียนและยังไม่ได้เป็นคริสเตียนเพื่อนำให้พวกเขาได้รับความรอดอย่างที่ผมได้รับมา หากเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้า แม้วันหนึ่งเมื่อผมได้แต่งงานและมีครอบครัวเป็นของตัวเองก็ยังอยากขอใช้ชีวิตด้วยการรับใช้กับกลุ่มอนุชนอย่างนี้ต่อไป

ข่าว-บทความ ล่าสุด
แนะนำมูลนิธิฯ