หลักง่ายๆ คือ การไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเราให้กับบุคคลในโลกเสมือนได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ วันเกิด เลขบัตรต่างๆ ที่อยู่ของบ้าน หรือที่ทำงาน รูปภาพ เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลเหล่านั้นนำข้อมูลของเราไปใช้ประโยชน์อื่นๆ
การบอกข้อมูลส่วนตัวของตนเองลงในอินเตอร์เน็ตก็เปรียบเสมือนเราเปิดประตูบ้าน แล้วให้คนแปลกหน้าเข้ามาในบ้านของเรา เขาจะสามารถรู้ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับเราได้ แต่ในยุคปัจจุบันบางครั้งเราจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากโลกอินเตอร์เน็ต และจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลบางอย่าง ซึ่งในความเป็นจริงของยุคปัจจุบันกฎความปลอดภัยข้างต้นอาจจะทำไม่ได้จริงๆสำหรับบางคน
ดังนั้นบนพื้นฐานความปลอดภัยของการใช้อินเตอร์เน็ต อาจจำเป็นที่จะต้องมีเงื่อนไขอื่นๆติดตามมาด้วย ขอยกตัวอย่างกรณีที่เป็นข่าวมากมาย เช่น การนัดเจอกับเพื่อนที่รู้จักกันทางอินเตอร์เน็ต ก่อนจะมาถึงขั้นนี้ บุคคลคนนั้นคงก้าวผ่านเรื่องของกฎความปลอดภัยข้างต้นมาแล้ว เพราะมีการพูดคุยกับบุคคลที่รู้จักกันทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งแน่นอนว่าเขาจะต้องรู้ข้อมูลส่วนตัวบางอย่างของเรา
แต่การนัดไปเจอกับบุคคลที่รู้จักผ่านทางอินเตอร์เน็ต เราจำเป็นต้องมีคำถาม 3 ข้อ เพื่อเตือนตนเอง คือ
1) รู้สึกดีหรือไม่ดี
2) ถ้าทำตามคำขอหรือไปตามที่เขาบอกผู้ใหญ่จะรู้ไหมว่าอยู่ไหน และ
3) ถ้าไปหรือทำตามที่เขาขอแล้วเกิดเหตุร้ายขึ้นจะมีใครช่วยทันไหม
ถ้ามีข้อใดข้อหนึ่งตอบว่าไม่ ห้ามทำตามคำขอหรือไปตามที่บุคคลคนนั้นบอกเด็ดขาด จากคำถาม 3 ข้อไม่ได้ใช้ได้เฉพาะการนัดไปเจอกับบุคคลแปลกหน้าที่รู้จักกันทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น แต่สามารถใช้ป้องกันตนเองจากคนรู้จัก หรือคนใกล้ชิดที่นัดเจอเราไปหาเพียง 2 ต่อ 2 ได้
นอกจากนี้การตั้งคำถาม 3 ข้อเพื่อเตือนสติตนเองนั้นถ้านำมาใช้ตั้งแต่ต้นว่า “ถ้าเราเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเราทางอินเตอร์เน็ตให้คนอื่นรู้แล้ว เกิดเหตุร้ายขึ้นจะมีใครช่วยทันไหม” เชื่อว่าคงไม่มีคนไหนกล้าที่จะเปิดเผยข้อมูลของตนเองให้กับคนในโลกเสมือนจริงแม้จะมีความจำเป็นก็ตาม
ข้อมูลจาก มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก