ถ้ากำลังคิดจะใช้วิธี “ขู่” เพื่อรับมือกับลูกวัยแสนซนแสนดื้อล่ะก็ ระวังผลเสียที่จะตามมา..
การขู่ลูกเป็นวิธีที่ง่าย ไม่ต้องใช้ความรุนแรง แค่ทำเสียงเข้มขึ้นนิด ทำหน้าจริงจังอีกหน่อย ลูกก็จะหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้ แต่การหยุดเหล่านั้น ไม่ถาวรและก็มีผลเสียตามมาแบบที่เราอาจจะไม่เคยคิดเลยทีเดียว ! เคยมั้ยที่เคยขู่ลูกเช่นนี้
“ดื้อใช่มั้ย…ถ้ายังไม่หยุดกรี๊ดเดี๋ยวแม่เรียกตำรวจมาจับเลยนะ” “ถ้าไม่ยอมนอน เดี๋ยวผีจะมาหลอก” ฯลฯ
หลายคนอาจจะบอกก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย เดี๋ยวโตขึ้นลูกก็เข้าใจเองล่ะว่าอะไรเป็นอะไร แต่ระหว่างทางของความเข้าใจนั้น การเรียนรู้ด้านภาษาอาจจะช้าลงได้
….ก็เพราะว่าการขู่ เป็นการใช้คำพูดเพื่อสื่อออกมาว่า เมื่อทำแบบนี้แล้วจะเกิดผลอะไรตามมาบ้าง ซึ่งภาษาที่พ่อแม่สื่อสารกับลูกเป็นสิ่งสำคัญในการลำดับความคิดของเด็ก การบอกเหตุและผลที่สอดคล้องกัน ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ดีกว่า และพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ก็จะดีตามไปด้วย เนื่องจากการที่เด็กได้เรียนรู้ว่าหากทำหรือไม่ทำแบบนี้ผลที่เกิดตามมาจะเป็นอย่างไร จึงช่วยให้เด็กเรียบเรียงความคิด และสื่อออกมาได้ดีกว่าเด็กที่ได้รับความรู้แบบกระจัดกระจาย ไม่เป็นเหตุเป็นผล เช่น “หนูต้องใส่รองเท้านะ ไม่งั้นเดี๋ยวมดกัด”
เด็กก็จะเรียนรู้ว่าที่ต้องใส่รองเท้า เพราะว่าที่พื้นมีมด ถ้ามดกัดเท้าก็จะเจ็บเท้า มันเป็นเหตุเป็นผลในตัวเอง โดยที่พ่อแม่อย่างเราไม่ต้องมานั่งอธิบายกันเยอะ และการเรียบเรียงข้อมูลในสมองของลูกก็จะเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้ลูกเข้าใจและสื่อสารสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง
แต่ถ้าคุณแม่บอกว่า “ใส่รองเท้านะ ไม่งั้นจะเรียกตำรวจมาจับ” หรือ “ถ้าไม่ใส่รองเท้าจะโดนตี” ก็จะเกิดคำถามขึ้นในใจเรื่อยๆ ว่า ทำไมตำรวจถึงต้องมาจับ จับแล้วจับไปไหน แล้วต้องทำอย่างไรต่อ หรือทำไมต้องถูกตี เพราะความเป็นเหตุเป็นผลไม่มี และเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ยั่งยืน เพราะต้องหาคำตอบต่อไปเรื่อยๆ ไม่จบ ส่งผลให้การรับข้อมูลของเด็กเป็นลักษณะกระจัดกระจาย ไม่รู้ว่าอะไรคือเหตุและผลของกันและกัน คิดต่อไปไม่ได้ เพราะการขู่มักเป็นการพูดที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล และยังส่งผลให้เด็กเกิดความกังวลและกลัวโดยไม่มีเหตุผลด้วย
ยิ่งถ้าในบ้านอยู่กันหลายคนต่างคนต่างขู่ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน เด็กจะสับสนแน่ๆ ว่าตกลงแล้วความจริงคืออย่างไหน รวมถึงอาจจะไม่เชื่อ ไม่กลัว ไม่สนใจในคำขู่นั้น และยิ่งเมื่อเด็กโตขึ้น แล้วรู้ว่าเมื่อไม่ใส่รองเท้า เท้าเขาก็ไม่ได้เน่านี่นา หรือไม่เห็นมีตำรวจมาจับเลย เด็กก็จะรู้แล้วว่า เราพูดไม่จริง คำขู่ของเราก็จะใช้ไม่ได้ผล แถมต่อไปบอกอะไรลูกก็จะไม่เชื่ออีกด้วย
ไม่รักแล้ว : คำขู่อันตราย ห้ามใช้!
อีกหนึ่งคำขู่ท็อปฮิต “ถ้าหนูทำแบบนี้ แม่จะไม่รักแล้วนะ”
ห้ามเด็ดขาด..เพราะว่าคำพูดเหล่านี้จะไปกระทบความรู้สึกเบื้องลึกในจิตใจลูก อย่าคิดว่าเป็นแค่คำพูดธรรมดาเอง ไม่มีอะไร ลูกคงรู้อยู่แล้วว่าพ่อแม่รัก แต่ในความเป็นจริง คำพูดเหล่านี้เป็นตัวบั่นทอนความรู้สึก ยิ่งใช้บ่อยๆ อาจทำให้ลูกเชื่อได้ว่าเราไม่รัก เพราะโดยธรรมชาติเด็กจะค่อยๆ โตขึ้น เริ่มรับรู้ เข้าใจความหมายของภาษา บางคนจะสับสน บางคนเข้าใจผิดไปเลยก็ได้ เพราะจริงๆ แล้วเราไม่ได้จะไม่รักลูก เพียงแต่เราแค่เสียใจที่ลูกดื้อเท่านั้นเอง
นอกจากนี้การพูด “ไม่รัก” บ่อยๆ จะทำให้ลูกขาดความมั่นคงทางอารมณ์ได้ เพราะเด็กต้องการความมั่นคงทางจิตใจจากพ่อแม่ การพูดไม่รัก ก็ไปบั่นทอนความรู้สึกเชื่อมั่น ความสึกเติมเต็มในใจ อาจจะทำให้เขารู้สึกไม่แน่ใจว่าตกลงพ่อแม่ยังรักเขาหรือเปล่า ซึ่งความมั่นคงทางจิตใจของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ การรู้จักแบ่งปัน การรู้จักตัวเองและคนอื่น
วิธีแบบนี้….ได้ผลกว่า
วิธีต่อไปนี้สามารถใช้แทนคำขู่ และส่งผลดีต่อลูกมากกว่าด้วย
- ให้คำชมแทนเช่น ถ้าทำแบบนี้คุณแม่จะไม่ชมเชยหนูนะ หรือ ถ้าหนูไม่ทำหนูจะเป็นเด็กดีของแม่เลย
- เป็นตัวอย่างที่ดีก่อนคือถ้าอยากให้ลูกใส่รองเท้าเวลาออกจากบ้าน คุณแม่ต้องใส่เสมอ แล้วบอกลูกว่าเห็นมั้ยคุณแม่ก็ยังใส่เลย
- บอกผลที่จะเกิดขึ้น ถ้าลูกอยากทำอะไรที่เสี่ยงต่อการเจ็บตัว แล้วคุณแม่ดูว่าไม่อันตรายมากนัก ก็บอกเงื่อนไขให้ลูกรู้ค่ะว่าถ้าปีนเก้าอี้แล้วตกลงมาเจ็บคุณแม่จะไม่โอ๋ไม่ช่วยนะลูก เพื่อให้ลูกรู้ว่าถ้ายังตัดสินใจจะเล่น ตกลงมาเจ็บก็ห้ามเรียกร้องความสนใจ และคุณแม่ก็จะต้องไม่โอ๋จริงๆ นะคะ เพื่อให้ลูกรู้จักรับผิดชอบตัวเอง
- ให้รางวัลถ้าลูกทำตามที่เราบอกอาจจะให้รางวัลที่ลูกชอบค่ะ
- งดของชอบเพื่อเป็นการทำโทษ ในกรณีที่ลูกเริ่มจะพูดไม่ฟัง ลองเปลี่ยนจากคำขู่มาเป็นการไม่ให้ของที่ลูกชอบ เช่น วันนี้หนูดื้อกับแม่ แม่จะไม่ให้กินขนม 1 วัน แล้วคุณแม่ห้ามใจอ่อน ต้องทำจริงๆ
- บอกรักลูกเปลี่ยนจากการพูดว่าคุณแม่ไม่รักแล้ว มาเป็น คุณแม่เสียใจนะ คุณแม่โกรธแล้วนะที่ลูกทำแบบนี้ แต่ต้องย้ำให้ลูกรู้ว่าแม่ยังรักเขาอยู่ ลูกยังเป็นที่รักในสายตาแม่เสมอ แต่ว่าหากทำผิดก็ต้องโดนทำโทษ ซึ่งเป็นกฎตามปกติ
จริงๆ แล้วเรายังใช้วิธีขู่ลูกได้ แต่ต้องขู่ด้วยความจริง ด้วยเหตุและผล เพื่อให้เด็กรับรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง มีโอกาสตัดสินใจ และทำให้ลูกได้ตระหนักเมื่อโตขึ้นว่าพ่อแม่คือคนที่พูดความจริงกับเขามาอย่างสม่ำเสมอและยังเป็นการสร้างลูกให้เป็นคนมีเหตุผลด้วย
ขู่ลูก ใช่ว่าจะดี!โดย นิตยสารรักลูก
โดย ฌาน