หน้าแรก 9 เรื่องเล่าจากคริสตจักร 9 คริสตจักรบ้านส้มป่อย

คริสตจักรบ้านส้มป่อย

คริสตจักรบ้านส้มป่อยกับการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในคริสตจักร

ศูนย์พัฒนาเด็กคริสตจักรบ้านส้มป่อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

จากตัวอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ่านเส้นทางหลักและลัดเลาะไปตามทางขึ้นภูเขาสูงอีกประมาณ 47 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง ก็มาถึงบ้านส้มป่อยซึ่งเป็นชุมชนกะเหรี่ยงสะกอ ในตำบลขุนแม่ลาที่มีหมู่บ้านเล็กๆ เพียง 5 หมู่บ้านและยังโอบล้อมไปด้วยภูเขาสูงทำให้มีอากาศเย็นตลอดปี  

บ้านส้มป่อยเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาเด็กคริสตจักรบ้านส้มป่อย ซึ่งทำพันธกิจร่วมกับคอมแพสชันตั้งแต่ปี ค.ศ.2009  มีเด็กเพียง 70 คนเข้าร่วมโครงการในตอนนั้น มีอาคารคริสตจักรเพียง 1 หลัง จนถึงปัจจุบันคริสตจักรบ้านส้มป่อยแห่งนี้กลายเป็นสถานที่สาธารณประโยชน์ศูนย์กลางของชุมชนในเชิงพัฒนาแก่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

อะไรทำให้คริสตจักรเล็กๆ ในชุมชนเล็กๆ สามารถขยายขีดความสามารถของคริสตจักรเองในด้านการจัดเตรียมอาคารสถานที่เพื่อรองรับพันธกิจของคริสตจักรในอนาคต และคริสตจักรทำสำเร็จได้อย่างไร

ธัชชัย ธาราจำรัสสุข  ผู้จัดการโครงการ เล่าให้ฟังว่า

 

“เริ่มต้นจากทางผู้นำคริสตจักร ศิษยาภิบาล อาจารย์นิมิต ศรีไพรพร และคณะกรรมการคริสตจักรมีภาระใจที่จะให้เด็ก ๆ มีสถานที่เรียน สถานที่เล่น และยิ่งกว่านั้น คือ ให้คริสตจักรเป็นศูนย์รองรับเด็ก ๆ เข้ามาในทางพระเจ้า”

คริสตจักรเรา สมาชิกมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สมาชิกเรามี 250 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา พอถามว่าครอบครัวไหนจะช่วย ก็ยกมือกันนะ ถวายกัน สมาชิกถวายสิบลด บางครอบครัวถวายข้าวไร่ แต่ละปี คิดเป็นเงินก็สองสามแสน ก็ไม่ใช่คนมีรายได้อะไรเยอะแยะ สมาชิกคริสตจักรได้ให้คริสตจักรมีการตั้งงบประมาณสำหรับการสร้างอาคารและปรับปรุงสถานที่ปีละ 30,000 บาท (จากเดิมคริสตจักรไม่เคยมีการตั้งงบเลย)

เรามีงบส่วนนึงไม่มาก การก่อสร้าง เราเริ่มก่อน ทางเขต(ต้นสังกัดคริสตจักร) ค่อยมาช่วยทีหลัง หลังจากนั้นก็มี อบต ช่วยบ้าง ผู้ปกครองช่วยกัน อย่างเช่น คริสตจักรซื้อสังกะสี กระเบื้อง แรงงานก็คนในชุมชน บางคนมีไม้เก่า ไม่ใช้แล้วก็นำมาถวาย และในชุมชนเรามีไม้ไผ่ เป็นสิ่งที่เราหาได้ ไม่ต้องซื้อ ผู้ปกครองเด็กมีรถ ก็ช่วยขนอิฐบล็อค ในช่วงหน้าฝน การขนส่งวัสดุจะลำบากเพราะถนนไม่ค่อยดี ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น คริสตจักรก็ได้ประสานกับ อบต และขอความร่วมมือจากผู้ปกครองที่มีรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อให้ช่วยขนให้

ปัจจุบันนี้คริสตจักรมีอาคารนมัสการหลังใหม่ 2 ชั้น ห้องน้ำ 5 ห้อง และมีอาคารเรียน  2 หลัง รวมห้องทั้งหมดที่ใช้จัดกิจกรรมได้ 5 ห้อง และมีลานกีฬาเล็ก ๆ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ เล่นได้ด้วย

“คนในชุมชนก็เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเยอะ อย่างเมื่อเราจัดมุมให้เด็ก มีสนามให้ เด็กมาใช้ได้ ที่จริงพื้นที่ของคริสตจักรไม่กว้างมาก แต่ตอนนี้ทำให้เด็กเข้ามาในโครงการเยอะขึ้น มีจำนวนเด็กในโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 250  คน ทุกวันจะมีเด็กเข้ามาเล่นปิงปองบ้าง เบตองบ้าง มาเล่นดนตรีบ้าง ไม่ต่ำกว่า 20 คน ภาครัฐก็มาใช้ อย่างเวลามีประชุมหรือมีการอบรมของทางราชการ อบต ผู้ใหญ่บ้าน ทางอำเภอก็มาใช้สถานที่โบสถ์”

ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มรื้อถอนอาคารหลังเดิมเมื่อเมษายน2015 จนกระทั่งสร้างเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน2016 รวม 14 เดือนใช้งบประมาณทั้งหมด 700,000 บาท แต่นี่คงไม่ใช่มูลค่าการก่อสร้างที่แท้จริง เพราะมูลค่าที่แท้จริงนั้นรวมถึงสิ่งที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ นั่นคือ ความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในคริสตจักร ผู้ปกครองเด็ก  คนในชุมชน ที่ต่างช่วยกันตามกำลังของตนในการแบ่งปันสิ่งที่ตนเองมี รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม  

คริสตจักรบ้านส้มป่อย จึงเป็นแบบอย่างของคริสตจักรที่สามารถดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนและใช้ทรัพยากรท้องถิ่นในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในคริสตจักรได้อย่างเหมาะสม ใครที่ยังไม่เคยไปเยี่ยมคริสตจักรบนภูเขาสูงแห่งนี้ น่าจะมีโอกาสไปเยี่ยมเยือน ร่วมนมัสการ หรือไปทำกิจกรรมอาสากับเด็กๆ สักครั้งนะคะ

 

(ขอบคุณ อ.ปรีชา รุ้งประนมกร ,คุณธัชชัย ธาราจำรัสสุข สำหรับข้อมูลและภาพ)

(คำสำคัญ:การใช้ทรัพยากรท้องถิ่น,คาวาห์,การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง,ความเป็นเจ้าของ)


 


ทำความรู้จัก ธัชชัย ธาราจำรัสสุข  

ผู้จัดการโครงการศูนย์พัฒนาเด็กคริสตจักรบ้านส้มป่อย ตำบลขุนแม่ลา อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ก่อนมารับใช้พระเจ้า

“ผมมาจากครอบครัวคริสเตียน  ม.ต้นไปเรียนที่แม่นาจร ต่อม.ปลายที่แม่แจ่ม แล้วไปเรียนพระคัมภีร์ที่โซเอ 2 ปี ตอนเรียนพระคัมภีร์ มีความฝันเรื่องดนตรี ออกไปประกาศที่นู่นที่นี่ หลังจากนั้น แม่ก็บอกไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่พอไปเรียนต่อที่กรุงเทพและเจอเหตุการณ์ต่างๆ ผมรู้ตัวเองว่าผมไม่แข็งแกร่งพอ เพื่อนแต่ละคน ก็สูบ ก็ดื่ม ไม่มีเพื่อนคริสเตียนเลย เพื่อนที่เรียนด้วยกัน 20 คน มีผมคนเดียวเป็นชนเผ่า  แต่ทุกคนก็รักกันนะ สิ่งที่ทำให้ผมอยู่ไม่สนุกคือ มีเพื่อนชวนไปทางไม่ดี ผมอยู่หอ วันนึงมีเพื่อนที่เขามียาบ้า มาชวน ทำให้เริ่มคิดว่า ในฐานะที่เราเป็นคริสเตียน เราจะอยู่แบบนี้เหรอ แล้วผมดึงเขาได้หรือเปล่า เรียนที่นั่น ไม่กี่เดือนเอง เพิ่งเข้าไป พอรู้ว่าไม่ใช่ ก็กลับบ้าน”

จากครูสอนดนตรี สู่ผู้จัดการโครงการ

“กลับมาบ้านประมาณเดือนกว่า ผู้จัดการโครงการคนเก่า (คุณวิรัตน์) เรียกผมไปสอนดนตรีวันเสาร์ให้กับน้องๆในโครงการ ผมไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นเจ้าหน้าที่ในโครงการ แต่สุดท้ายผู้จัดการออกเพราะจะไปทำงานอย่างอื่น ก็มีการประชุมและเลือกคนใหม่ คริสตจักรเลือกผม  แต่ผมก็ปฏิเสธก่อน เพราะคิดว่าผมไม่เหมาะ เพราะต้องดูแลงานบริหาร  แต่ผมยังไม่มีประสบการณ์รับใช้ซักที่ เพิ่งจบมา แต่ทางคริสตจักรก็ให้ผมเรียนรู้  ผมก็ยอม หลังจาก 3 เดือนที่เรียนรู้ ก็ทำหน้าที่ผู้จัดการเต็มตัวแต่ก็มีปัญหาบ้าง เช่นเรื่องเทคโนโลยีที่ไม่ถนัดในตอนแรก ต้องเปิดอีเมล์บ่อย และเรื่องการบริหาร”

3 ปีกับงานผู้จัดการ

“ช่วงแรกที่ทำงาน มีที่ปรึกษาคือ ผู้จัดการคนเก่า อะไรที่ไม่เข้าใจก็ถาม ผมก็เรียนรู้มากขึ้น ช่วงแรกเจอปัญหาเยอะ อยากจะถอดใจแล้ว เรื่องเอกสารผมไม่ชอบ แต่พวกลงมือปฏิบัติ ดนตรี กีฬา ผมชอบ ตอนนี้ก็ดีขึ้น ทางคอมแพสชั่นก็ส่งพี่โย(ผู้ประสานงานพื้นที่) ให้ความรู้ผมหลายอย่าง”

“ผมเห็นความแตกต่าง เวลาคอมแพสชั่นมาทำงาน ตรง ๆ คือ คริสตจักรไม่เคยพัฒนาแบบองค์รวมแบบนี้ ที่เปลี่ยนแปลงได้แบบในปัจจุบัน ผมพูดได้เต็มปากเลยนะว่า คอมแพสชั่นก็มีส่วนเยอะมาก และผู้ประสานงาน เมื่อก่อนเป็น อ.สุรชัย มากระตุ้นคริสตจักรตอนคริสตจักรยังไม่เปิดโครงการ ไม่มีอะไรเลย  คริสตจักรก็มีนิมิตอยู่แล้ว มีใจอยู่แล้ว คริสตจักรทำอยู่ แต่ไม่เท่ากับที่ได้รวมมือกับคอมแพสชั่น”

จุดเด่นของโครงการที่นี่

“เรื่องความร่วมมือ คริสตจักรของเรา ถ้าศบ.บอกแบบนี้ คนเราก็จะเห็นด้วย มีความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน”

 

ทิ้งท้ายก่อนจาก

“ทุกวันนี้ที่โครงการเราทำได้ดีในระดับหนึ่งเท่าที่เราทำได้ คริสตจักรทำสุดกำลัง และผู้นำเองก็สนับสนุนเต็มที่อยู่แล้ว คนในชุมชนก็เห็นความสำคัญในการพัฒนาเด็ก ณ ปัจจุบัน ผมเห็นทุกวัน เด็กเข้ามาเล่นปิงปอง เปตอง เด็กเข้ามาในโครงการเยอะขึ้น เขามาเล่นกีฬา เห็นหน้าเห็นตาเขา เราก็ชวนมาเรียนพระคัมภีร์ด้วย อีกไม่นาน เราจะทำสนามฟุตซอลให้กับเด็กๆ”

 

ข่าว-บทความ ล่าสุด
แนะนำมูลนิธิฯ