ในการดูแลเด็กนั้น บ่อยครั้งที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่มักจะอดไม่ได้ที่จะใช้อำนาจกับเด็ก เพื่อให้เด็กหยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหรือมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น บางครั้งการใช้อำนาจนั้นก็ได้ผล แต่ถ้าสังเกตให้ดีและยาวนานพอ จะพบว่าผลนั้นอยู่ชั่วระยะเวลาสั้น ในที่สุดเด็กก็จะกลับไปเป็นอย่างเดิม และในหลายๆ ครั้ง กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมา ทั้งนี้เนื่องจากการใช้อำนาจในเด็กนั้นมีผลเสียแทรกซ้อนตามมามากมาย ผู้ใหญ่ควรพิจารณาให้ดีเมื่อจะใช้อำนาจกับเด็ก และควรจำกัดการใช้อำนาจนั้นกับบางสถานการณ์ที่จำเป็นเท่านั้น
ผลเสียของการใช้อำนาจกับเด็ก
1.ก่อให้เกิดความกลัวโดยไม่จำเป็น
เด็กทุกคนมีแนวโน้มจะเกรงกลังต่อผู้ใหญ่อยู่แล้ว การแสดงอำนาจมากเกินไปหรือรุนแรงเกินไปจะทำให้เด็กเกิดความกลัวมากๆ และพยายามทำตัวดีๆ เพื่อมิให้ผู้ใหญ่โกรธและใช้อำนาจเอา แต่บางคนก็พยายามหลีกหนีหลบไปจากสถานการณ์นั้น กลายเป็นคนหนีปัญหา เด็กที่มีพื้นอารมณ์หวั่นไหวอยู่แล้วจะกลัวมาก กลัวจนลนลาน กลัวจนไม่กล้ามาโรงเรียน กลัวจนต้องโกหก กลัวจนต้องขโมย (เพราะเวลาขอจะโดนดุมาก)
พ่อแม่ที่แสดงอำนาจมากๆ กับเด็กๆในบ้าน จะทำให้ทุกคนเสียขวัญไปด้วย ครูบางคนดุเด็กโดยใช้อำนาจมากๆ ทำให้เด็กดีๆ กลัวจนลนลาน เวลาเรียนไม่มีจิตใจจะเรียนแล้วเพราะกลัวครู จะทำอะไรก็พยายามคิดว่า ครูจะดุไหม ทำให้ไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงออก จนกลายเป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเอง
เด็กที่โดนผู้ใหญ่ใช้อำนาจบางคนไม่กลัว แต่โกรธและเก็บกดความโกรธความก้าวร้าวไว้ในใจ เอาไปแสดงออกลับหลังผู้ใหญ่ หรือแสดงออกที่อื่น ทำแบบนี้เป็นการสอนให้เด็กหน้าไหว้หลังหลอกเหมือนกัน
2.เด็กเลียนแบบการใช้อำนาจ
เมื่อผู้ใหญ่แสดงออกอย่างไร เด็กจะเรียนรู้และซึมซับเอาพฤติกรรมนั้นไปใช้เมื่อเขาอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน หรือเหตุการณ์คล้ายๆ กัน ดังนั้น เมื่อผู้ใหญ่ใช้อำนาจไม่มีเหตุผล ก้าวร้าวรุนแรงกับเด็ก ก็เท่ากับเป็นการสอนให้เด็กไม่มีเหตุผล ใช้ความรุนแรง ใช้อำนาจที่เหนือกว่าบังคับคนอื่นที่อ่อนด้อยกว่าตนเอง พ่อแม่หรือครูที่ชอบใช้อำนาจ ก็อาจเกิดจากการเรียนรู้มาตั้งแต่ตนเองยังเป็นเด็กเหมือนกัน บางคนเกิดเป็นทัศนคติความเชื่อเลยว่า การใช้อำนาจเท่านั้น คือคำตอบของการแก้ไขปัญหา
3.เด็กมีพัฒนาการบกพร่อง
ผู้ใหญ่ที่ใช้อำนาจกับเด็กบ่อยๆ จะทำให้เด็กกลายเป็นคนที่มีความผิดปกติในบุคลิกภาพ ดังนี้
- เป็นคนขี้กลัว ขี้วิตกกังวล
- เป็นคนไม่มีเหตุผล ทำอะไรตามอารมณ์
- ก้าวร้าว รุนแรง ตัดสินใจด้วยกำลังมากกว่าความคิด
- สมยอมง่าย ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าเปิดเผย
- ไม่ฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
- ไม่รู้จักประนีประนอม ไม่ปรับตัวเข้ากับคนอื่น
- ขาดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง
พัฒนาการที่บกพร่องนี้จะกลายเป็นปัญหาในการดำเนินชีวิต การปรับตัวให้เข้ากับสังคม ขาดความสุขในชีวิต และมีแน้วโน้มจะเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้มากกว่าเด็กปกติ
สถานการณ์ใดที่ควรใช้อำนาจกับเด็ก
พ่อแม่ควรใช้อำนาจของตนในการกำหนดขอบเขตเพื่อให้เด็กปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อคนอื่น หรือเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือส่วนรวมและเสริมพัฒนาการทางด้านดี แต่ก็ไม่ควรใช่ความก้าวร้าวรุนแรง ควรใช้ความหนักแน่น เอาจริง อย่างสงบ
เมื่อเด็กโตขึ้น กฎเกณฑ์และกติกา ซึ่งเป็นขอบเขตจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย อย่าลืมว่าข้อบังคับที่เข้มงวดเกินไปอาจเป็นผลเสียต่อการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ด้วย
ในวัยรุ่น กติกาต่างๆ ต้องยืดหยุ่นมากขึ้นไปอีก และควรมีการประนีประนอมกันเสมอ
บางสถานการณ์แทนที่จะใช้อำนาจตัดสิน ก็อาจใช้วิธีเกลี้ยกล่อมจูงใจ ชี้แจงอย่างจริงจังแต่นุ่มนวล ไม่เป็นการพยายามเอาชนะกันทางความคิดแต่ฝ่ายเดียว เด็กก็รับฟังและเชื่อผู้ใหญ่เหมือนกัน
บางเหตุการณ์พ่อแม่อาจคาดล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดผลเสียอย่างรุนแรง แต่เด็กอาจไม่ยอมรับและจะทำทันที กรณีนี้พ่อแม่อาจใช้อำนาจเพื่อหยุดยั้งเขาก่อน แต่หลังจากนั้นแล้วควรมีการพูดคุยกันจนเขารู้สึกยอมรับได้ (อย่างจริงใจ มิใช่จำใจยอมรับ)
ปัญหาใหญ่จะเกิดเมื่อพ่อแม่มักคิดว่าปัญหาเรื่องเล็กน้อยทุกเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ไปหมด และจะใช้แต่อำนาจจัดการอย่างเดียว แบบนี้จะเป็นปัญหาให้เด็กไม่ยอมรับได้มากๆ เด็กจะไม่ยอมพ่อแม่ พ่อแม่ก็ยิ่งไม่ยอมกับเด็ก ในที่สุดก็โกรธกันไม่พูดกัน หลังจากนั้นเด็กก็จะมีแนวโน้มไม่ฟังผู้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทางออกที่ดีคือควรเลือกใช้อำนาจกับเรื่องที่รุนแรงจริงๆ เท่านั้น เหตุการณ์อื่นๆ ที่ไม่น่ากลัวควรหาวิธีการแบบนั้น ที่ไม่น่ากลัวควรหาวิธีการแก้ไขแบบอื่น เช่น การจูงใจ แนะนำมากกว่าการใช้อำนาจ
โดย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก