หน้าแรก 9 ความรู้ปกป้องเด็ก 9 หลีกเลี่ยงการถูกข่มขืน

หลีกเลี่ยงการถูกข่มขืน

กรณีข่าวเด็กถูกข่มขืนโดยเพื่อนบ้าน ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องการดูแลเด็ก ซึ่งผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ ควรตระหนักและใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น คือ

1. การดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ซึ่งในแต่ละช่วงวัยของเด็ก มีระยะของการดูแลที่แตกต่างกัน สำหรับเด็กเล็ก พ่อแม่ต้องดูแลใกล้ชิด อยู่ในระยะที่เอื้อมมือถึงหรืออยู่ในสายตาตลอดเวลา  สามารถช่วยเหลือลูกได้ทันหากเกิดความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น สำหรับเด็กอายุน้อยกว่าสิบสองปีไม่ควรปล่อยให้เดินทางไปไหนตามลำพัง เด็กอายุตั้งแต่สิบสองปีแต่ไม่เกินสิบห้าปี ให้เดินทางไปไหนต่อไหนเองได้  แต่ต้องฝึกสอนเขาเรื่องวิธีการเดินทางที่ปลอดภัยและเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยและกำหนดสถานที่ๆจะไป ในเวลากลางวันในเขตเมืองหรือชุมชน  ทั้งนี้ผู้ปกครองต้องสามารถติดตามความเป็นไปของเด็ก  อาจจะผ่านโทรศัพท์หรือระบบ GPS ที่อยู่ในโทรศัพท์ หรือกับผู้ใหญ่ที่สถานที่ที่เด็กไป  ถ้าเป็นเด็กอายุสิบห้าปีแต่ต่ำกว่าสิบแปดปีสามารถยอมให้เด็กสามารถเดินทางอย่างอิสระ ในเวลากลางวันในเขตเมือง โดยผู้ปกครองต้องสามารถติดต่อเด็กได้เสมอ

2. การฝึกเด็กให้เรียนรู้และใช้กฎแห่งความปลอดภัยสามข้อคือ

  1. ถ้ามีใครชวนไปทำอะไรที่ไหนต้องถามตัวเองก่อนว่ามันดีไหม อยากไปไหม หรือรู้สึกดีหรือไม่ ถ้าน่าไป ต้องถามตัวเองอีกว่า
  2. ถ้าไปแล้วผู้ปกครองผู้ดูแลจะรู้ไหม ว่าไปทำอะไรกับใครที่ไหนอย่างไร แม้ว่าผู้ปกครองผู้ดูแลจะรู้ ก็ต้องถามตนเองอีกข้อสุดท้าย
  3. เมื่อไปแล้วเกิดเหตุร้ายหรืออันตรายจะมีใครช่วยเหลือได้หรือจะปกป้องตนเองด้วยการหลบหนีได้หรือไม่ ถ้าไม่ข้อใดข้อหนึ่งก็ไปไม่ได้

3. การสอนเด็กเรื่องความปลอดภัยอื่นๆ เช่น

  1. สอนให้เด็กรู้จักประเมินสถานการณ์อันตรายโดยเฉพาะเรื่องเพศ
  2. สอนให้เด็กรู้จักหลบหลีกหรือหลีกเลี่ยงอันตราย เช่น ไม่อยู่กับเพศตรงข้ามในที่ลับสองต่อสอง เป็นต้น
  3. สอนให้เด็กรู้จักขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่ไว้วางใจได้

4. ความคิดผิดๆของผู้ใหญ่ (โดยส่วนมาก) มักคิดว่า คนใกล้ตัว คนรู้จัก จะเป็นคนที่เราสามารถไว้วางใจให้ดูแลลูกหลานของเราได้ แต่ในความเป็นจริง จากประสบการณ์การทำงานของมูลนิธิฯ พบว่า กว่า 90% ผู้กระทำ คือ คนที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน เป็นต้น

ข่าว-บทความ ล่าสุด
แนะนำมูลนิธิฯ