โครงการพัฒนาเด็กคริสตจักรบ้านจอปร่าคี ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
สัมภาษณ์ อ.ซันเดย์ ผาติลาภสกุล ผู้จัดการโครงการ
การฉีดวัคซีนในเด็ก เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กทุกคน เพื่อป้องกันโรคหรือลดความรุนแรงของโรค เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับวัคซีนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้และไม่เสียค่าใช้จ่ายกรณีเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐบาล แต่ยังมีเด็กที่ไม่มีโอกาสได้รับวัคซีนชนิดใด ๆ เลยเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและยากแก่การเข้าถึง เช่นที่ โข่เกะ กับ แมนึถ่า
โข่เกะ กับ แมนึถ่า เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ฝั่งพม่าซึ่งอยู่ใกล้แนวตะเข็บชายแดนไทยพม่า ทั้ง 2 หมู่บ้านนี้เป็นพื้นที่ทำพันธกิจของคริสตจักรจอปร่าคี ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน การเดินทางไปโข่เกะกับแม่นึถ่ามีความยากลำบากมาก ต้องใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงในฤดูร้อน และประมาณ 8-10 ชั่วโมงในฤดูฝน ซึ่งรถยนต์จะไปถึงแค่หมู่บ้านจอซิแดเท่านั้น เส้นทางต่อจากนั้นจะใช้ได้แต่มอเตอร์ไซค์เท่านั้นและใช้เวลาเดินทางนาน 1-2 ชั่วโมง จึงจะถึง
พันธกิจเด็กที่โข่เกะกับแมนึถ่าเริ่มต้นขึ้นกลางปีพ.ศ.2559 ทั้งสองหมู่บ้านนี้มี 124 ครัวเรือน มีเด็กที่ลงทะเบียนในโครงการนี้ประมาณร้อยกว่าคน แม้ว่าการเดินทางไม่สะดวกสบายและใช้เวลานานกว่าจะไปถึงที่หมาย แต่จากการที่ “อ.ซันเดย์” ผู้จัดการโครงการได้ลงพื้นที่เดือนละ 2-3 ครั้งไปเยี่ยมเยียนเด็กและครอบครัว จึงได้พบว่า เด็ก ๆ ป่วยบ่อย เมื่อสอบถามผู้ปกครองเด็กจึงทราบว่า เด็ก ๆ ที่นี่ไม่เคยได้รับวัคซีนตั้งแต่แรกคลอด จึงมีเด็กหลายคนป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคที่มีวัคซีนป้องกันได้
หลังจากนั้น อ.ซันเดย์จึงนำเรื่องนี้มาพูดคุยกับผู้นำคริสตจักร, ผู้นำชุมชน และ อ.ปรีชา รุ้งประนมกร เจ้าหน้าที่ประสานงานคริสตจักรคู่มิตรที่ดูแลพื้นที่นั้น “เราเห็นว่าวัคซีนสำคัญ ทำไมเราต้องรอให้เด็กป่วยก่อน ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้”
ดำเนินการติดต่อสาธารณสุขอำเภอแม่สะเรียง
อ.ซันเดย์ ผู้จัดการโครงการ และ อ.ปรีชา รุ้งประนมกร เจ้าหน้าที่ประสานงานคริสตจักรคู่มิตร จึงเริ่มติดต่อกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่สะเรียงเพื่อขอบุคลากรทางการแพทย์นำวัคซีนไปฉีดให้กับเด็ก ๆ ที่ โข่เกะ กับ แมนึถ่า แม้จะเป็นเรื่องที่สาธารณสุขเห็นความสำคัญและให้ความสนใจมาก แต่เพราะทางสาธารณสุขมีภารกิจมาก และมีความไม่เข้าใจบริบทในพื้นที่ โข่เกะ กับ แมนึถ่า ทำให้การประสานงานจึงใช้เวลาเกือบ 1 ปีกว่าจะลงตัว จนในที่สุดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ลงพื้นที่ไปฉีดวัคซีนให้เด็กที่นั่นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2559
อ.ซันเดย์ เล่าให้ฟังว่า “เวลาไปฉีดวัคซีน จะมีหัวหน้า รพสต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) 1 คน ทีมผู้ช่วย 2 คน ผู้ที่สามารถฉีดวัคซีนได้มีใบรับรอง 3 คน รวมหมอเบิ้มที่เป็นแม่งาน ตอนแรกหมอเขาไม่ค่อยเข้าใจบริบทของเรา เมื่อกลับจากไปฉีดวัคซีนครั้งแรก หมอเข้าใจการทำงานของเราแล้ว หลังจากนั้นถ้าผมไป เขาก็จะให้ทีมงานเขาไปกับผม เราแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับแม่และเด็กในโครงการให้กับทีมงานของเขา กรณีที่มีแม่และเด็กมาขอตรวจ จะมีการวางแผนร่วมกับหมอ”
ให้ความรู้กับผู้ปกครองก่อนทีมหมอจะไปลงพื้นที่
“เมื่อก่อนชาวบ้านกลัวหมอ ดังนั้นก่อนที่พวกเราจะไปฉีดวัคซีน เราก็มีการให้ความรู้กับผู้ปกครองเรื่องวัคซีน พูดคุยกับชาวบ้านให้เข้าใจก่อน ตอนนี้ที่เราไปฉีดวัคซีน เราดีใจที่ผู้ปกครองสนับสนุนให้ลูกเขาฉีดวัคซีน”
เด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนก็มารับวัคซีน
“หญิงตั้งครรภ์ 3 คนมาหาหมอ หมอก็รับตรวจ เราก็ทำสมุดสีชมพู(สมุดบันทึกการตรวจครรภ์)ให้เขาด้วย ถึงแม้จะเป็นฝั่งพม่า แต่หมอเขาก็รับ ตอนแรกทางเราและหมอไม่คิดว่าจะมีแม่และเด็กมาด้วย รอบต่อๆไป ถ้ามีแม่และเด็ก ก็มาได้เลย เราจะมีการตรวจสุขภาพให้กับทั้งแม่และเด็ก กรณีมีหญิงตั้งครรภ์ เราก็มีการวางแผนการทำงานร่วมกับหมอว่าจะมาอีกทีเมื่อไหร่เพราะต้องตรวจครรภ์ต่อเนื่อง”
“การไปฉีดวัคซีนครั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะอยู่ในกลุ่มโครงการเท่านั้น เด็กนอกโครงการ เด็กๆ วัยรุ่นในชุมชนก็เข้ามารับวัคซีนด้วย มีวัยรุ่นหญิงอายุ 17-18 ปีก็เข้ามาฉีดกับเรา ถ้าผู้หญิงที่กำลังจะมีครอบครัว ก็สามารถรับวัคซีนได้ และจะมีการฉีดต่อเนื่องให้เหมือนกัน เพราะทั้งหมดอยู่ในข้อมูลของสาธารณสุข”
จนถึงปัจจุบัน ทีมสาธารณสุขไปให้วัคซีนที่โข่เกะกับแม่นึถ่ามาแล้ว 2 ครั้ง แต่ละครั้งมีเด็กมาตรวจ 60-70คน มีหญิงตั้งครรภ์มารับการตรวจครรภ์ 3-5 คน ขอบคุณพระเจ้าสำหรับการจัดเตรียมในทุกสิ่ง แม้จะต้องใช้เวลานานถึง 1 ปีในการพยายามติดต่อประสานงานกับทางสาธารณสุข ในที่สุดคริสตจักรและทีมสาธารณสุขก็สามารถนำวัคซีนเข้าไปฉีดให้กับเด็ก ๆ ได้