สิทธิเด็ก

“เด็กทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางเพศ สีผิว เชื้อชาติ ภาษา ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และความพิการ หรือทุพพลภาพ ทั้งทางร่างกายและการเรียนรู้(สติปัญญา)”ที่มาของ “สิทธิเด็ก”

เด็กมีความเสี่ยงต่อสถานการณ์ต่างๆ มากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้เด็กมีโอกาสถูกทำร้ายได้ง่ายทั้งจากบุคคลภายนอกหรือแม้กระทั่งจากบุคคลในครอบครัวของเด็กเอง เพราะในหลายๆสังคมเด็กมักถูกมองว่าเป็นสมบัติของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ดังนั้นเด็กจึงเป็นเพียงผู้ซึ่งกำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่ ยังไม่สามารถทำงานเพื่อสังคมได้ ทำให้เด็กไม่มีสิทธิในการออกเสียงหรืออำนาจทางการเมืองและเด็กมีพลังทางเศรษฐกิจน้อย ความคิดเห็นของเด็กจึงมักไม่ค่อยได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมส่วนใหญ่ยังขาดโครงสร้างทางกฎหมายและสังคมที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก

ด้วยความคิดที่ว่าการพัฒนาเด็กอย่างเหมาะสมมีความสำคัญต่ออนาคตของสังคม ผู้ที่เล็งเห็นความสำคัญของเด็กหรือมนุษยชนจึงได้ให้สัตยาบันลงนามในสนธิสัญญาที่รู้จักกันในนาม “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” อันจะเป็นรากฐานอันสำคัญในการับรองว่าจะปกป้องและคุ้มครองเด็ก

“อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2533   ปัจจุบันอนุสัญญาฉบับนี้มีภาคีสมาชิกถึง 195 ประเทศ คงเหลือเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ยังไม่เข้าเป็นภาคีสมาชิกคือประเทศโซมาเลียและสหรัฐอเมริกา ในส่วนของประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญานี้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2535 และมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยในฐานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2535

หลักการสำคัญ

อนุสัญญาฯ ว่าด้วยสิทธิเด็กมีหลักการสำคัญสองประการคือ

  1. สิทธิของเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องที่รัฐหรือใครให้กับเด็ก แต่เป็นสิทธิของเด็กทุกคนที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ซึ่งอนุสัญญาใช้คำว่า “สิทธิติดตัว” (inherent rights) ดังนั้น เด็กจึงเป็นผู้มีสิทธิที่ไม่มีผู้ใดสามารถไปตัดทอนหรือจำกัดการใช้สิทธิอันชอบธรรมของเด็กหรือละเมิดสิทธิของเด็กได้
  2. ในการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก จะต้องคำนึงถึงสิทธิเด็กและที่สำคัญที่สุดคือต้องยึดถือ

หลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก (the best interest of the child) เป็นข้อพิจารณาในการดำเนินการ

หลักการสำคัญ

สิทธิเด็ก เป็นสิทธิสากล (Universal Rights) และเป็นสิทธิเด็ดขาด (Absolute Rights) ที่ต้องได้การรับรองและคุ้มครอง ด้วยจุดมุ่งหมายมิใช่เพื่อเรียกร้องสิทธิเด็ก แต่เพื่อการพัฒนาเด็กทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา ให้เจริญเติบโตรอบด้านให้เต็มศักยภาพ และไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยการผนึกกำลังร่วมกันในทุกสถาบันทั่วโลก

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมุ่งคุ้มครองสิทธิ 4 ดังนี้

1.สิทธิในการอยู่รอด

เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีชีวิตรอดอยู่เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าต่อไปโดยได้รับอาหารที่มีคุณค่าและเพียงพอ มีบ้านอยู่อาศัย และได้รับบริการสาธารณสุข รวมถึงสิทธิในการมีชื่อและสัญชาติ

3.สิทธิในการพัฒนา

สิทธิที่จะได้เล่นและพักผ่อน, สิทธิที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรม, สิทธิที่จะได้รับสิทธิในการศึกษาทุกประเภท, สิทธิที่จะคิดพัฒนาสติปัญญาและนับถือศาสนา

2.สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง

สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกเอาเปรียบทางเพศ, การใช้แรงงานที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือ พัฒนาการของร่างกาย สมองและจิตใจของเด็ก, การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ, สิทธิที่จะได้รับความยุติธรรมจากรัฐในกรณีถูกกล่าวหาและการพิจารณาคดี และการปกป้องคุ้มครองเด็กที่มีชีวิตอยู่ในภาะยากลำบาก เช่น เด็กพิการ เด็กผู้ลี้ภัย เด็กกำพร้า เป็นต้น

4.สิทธิในการมีส่วนร่วม

สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นและกล่าวถึงชีวิตของตนเอง รวมทั้งโอกาสที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆของสังคม และมีส่วนร่วมตัดสินใจในครอบครัว โรงเรียนและชุมชน

  • เด็กคือบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
  • เด็กทุกคนจะได้รับสิทธิตามอนุสัญญาโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใดๆ ด้านสัญชาติ เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา เพศ วัฒธรรม ความพิการ และฐานทางเศรษฐกิจ
  • การใช้สิทธิเด็กจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
  • รัฐจะต้องปฏิบัติอย่างเหมาะสมเพื่อให้สิทธิเด็กสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
  • เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลและปกป้องจากครอบครัว
  • เด็กมีสิทธิในการมีชีวิตและได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพของเขา
  • เด็กมีสิทธิที่จะมีชื่อและได้รับสัญชาติ
  • เด็กมีสิทธิที่จะมีเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น สัญชาติ ชื่อ และความสัมพันธ์กับครอบครัว
  • เด็กมีสิทธิที่จะอยู่กับพ่อแม่ หากเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ มีสิทธิที่จะติดต่อกับพ่อแม่ได้ ในกรณีที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน
  • เด็กมีสิทธิที่จะออกจากประเทศและกลับเข้าประเทศของตนเพื่ออยู่ร่วมกับคนในครอบครัวอีกครั้ง
  • ประเทศต่างๆต้องมีมาตรการป้องกันการลักพาตัวเด็กและการพาเด็กข้ามประเทศโดยเด็กไม่ยินยอม
  • เด็กมีสิทธิที่จะแสดงออกและแสดงความคิดเห็น ซึ่งควรจะได้รับฟังจากผู้ใหญ่
  • เด็กมีสิทธิในการแสดงออกความคิดเห็นและได้รับการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก
  • เด็กมีสิทธิเสรีภาพทางความคิด มโนธรรม และศาสนา
  • เด็กมีสิทธิที่จะพบปะและรวมกลุ่มอย่างสงบ
  • เด็กมีสิทธิในความเป็นส่วนตัว
  • เด็กมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งต่าง ๆ ผู้ใหญ่ควรป้องกันข้อมูลข่าวสารที่เป็นโทษต่อเด็ก
  • เด็กมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่และผู้ปกครอง ซึ่งรัฐควรจะส่งเสริมและช่วยเหลืออย่างเหมาะสมเพื่อให้พ่อแม่และผู้ปกครองดูแลเด็กได้
  • เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการถูกละเมิดถูกทำร้าย ถูกทอดทิ้งและถูกกระทำโดยมิชอบ
  • เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและดูแล หากไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรือครอบครัว
  • บุตรบุญธรรรมมีสิทธิได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมจากผู้ใหญ่และรัฐ
  • เด็กผู้ลี้ภัยที่ถูกบังคับให้ต้องออกจากประเทศที่ตนอาศัยอยู่จะต้องได้รับการคุ้มครอง
  • เด็กพิการจะได้รับการดูแลและการช่วยเหลือเป็นพิเศษ และจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี
  • เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลด้านสาธารณสุขที่มีมาตรฐานสูงสุด รวมถึงการบำบัดฟื้นฟูเมื่อเจ็บป่วย
  • เด็กที่อยู่ในสถานดูแลต่าง ๆ เพื่อการบำบัดรักษาสุขภาพหรือการคุ้มครองจะต้องได้รับการทบทวนการบำบัดรักษาเป็นระยะๆ
  • เด็กมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางสังคมจากรัฐ รวมทั้งการประกันสังคม
  • เด็กมีสิทธิในมาตรฐานในการดำรงชีวิตอย่างเพียงพอทางด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
  • เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และควรได้รับการส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้
  • การศึกษาของเด็กจะต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาตนเอง ความสามารถทางด้านร่างกายและจิตใจ
  • เด็กชนกลุ่มน้อยและชนพื้นเมือง มีสิทธิในวัฒนธรรมของตน พูดภาษาของตนและปฏิบัติศาสนกิจของตนได้
  • เด็กมีสิทธิที่จะเล่นและพักผ่อนหย่อนใจ
  • เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการทำงานที่บั่นทอนสุขภาพการศึกษา หรือการพัฒนาของเด็ก
  • เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการใช้เด็กเพื่อการค้าและผลิตยาเสพติด
  • เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการถูกล่วงละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศ
  • เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการค้าเด็กหรือถูกลักพาตัว
  • เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการถูกแสวงหาประโยชน์ทุกรูปแบบซึ่งรวมถึงการถูกทารุณ การลงโทษ การปฏิบัติที่เป็นผลร้ายต่อสวัสดิภาพของเด็ก
  • เด็กจะต้องไม่ถูกลงโทษโดยการทรมาน ถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย ประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
  • เด็กมีสิทธิที่จะไม่เข้าร่วมในความขัดแย้งหรือสงคราม และห้ามเกณฑ์เด็กต่ำกว่า 15 ปีไปเป็นทหาร
  • เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการฟื้นฟู เยียวยาทางร่างกายและจิตใจ เมื่อเด็กถูกทอดทิ้ง ถูกทารุณกรรม ถูกกระทำโดยมิชอบ ถูกแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ หรือเป็นเหยื่อทางสงคราม
  • เด็กที่กระทำการฝ่าฝืนกฏหมาย มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี
  • ถ้ากฎหมายใดได้รับเอาสิทธิของเด็กมากกว่ามาตรฐานอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอยู่แล้ว ให้ยึดถือกฎหมายนั้นๆ
  • เด็กมีสิทธิที่จะได้รับรู้สิทธิของตนเอง และรัฐจะต้องเผยแพร่อนุสัญญานี้ให้รับรู้อย่างกว้างขวางด้วยวิธีการที่เหมาะสมและจริงจัง

(ข้อมูลจากหนังสืออนุสัญญาว่าสิทธิเด็ก ฉบับเด็ก จัดทำโดย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากUNICEF

 หมายเหตุ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมี 54 มาตรา แต่ที่เกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรงมี 37 มาตรา ที่เหลือเป็นเพียงระเบียบและพิธีการต่างๆ ที่ประเทศสมาชิกหรือรัฐภาคีจะต้องปฏิบัติ