คริสตจักรตอปลาเด

เยาวชนกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

โครงการพัฒนาเด็กคริสตจักรตอปลาเด

คริสตจักรตอปลาเดตั้งอยู่ในชุมชนที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร จึงมักปลูกพืชเศรษฐกิจและเผาหลังเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมปลูกพืชในรอบต่อไป โดยพืชที่ชาวบ้านนิยมปลูกมากที่สุดคือ ข้าวโพด ซึ่งสร้างปัญหาให้สภาพแวดล้อมมากมาย ทั้งการเผาป่าที่นำมาซึ่งปัญหาฝุ่นควัน พื้นที่ป่าเบาบางลง แหล่งต้นน้ำมีปริมาณน้ำลดลงทุกปี และปัญหาโลกร้อน

คริสตจักรมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจึงจัดกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อมีเป้าหมายในการสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติรอบตัว รณรงค์การหยุดเผาป่า และฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมรอบชุมชนที่ประกอบด้วยป่าไม้เป็นส่วนใหญ่ เป็นเวลากว่า 17 ปีแล้ว ที่คริสตจักรให้ความร่วมมือกับชุมชนแก้ไขปัญหาผ่านการทำกิจกรรมมากมาย เช่น ปลูกป่า, สร้างฝายชะลอน้ำ, สร้างแนวกันไฟ, อนุรักษ์ปลา, และรณรงค์การหยุดเผา จนเกิดความเปลี่ยนแปลงให้ปริมาณฝุ่นควันในชุมชนลดลง พื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น และจำนวนการเกิดไฟป่าลดลง

นายกฤษฎา รักนิรันดร์กาล ผู้จัดการโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนแบบองค์รวมประจำคริสตจักรตอปลาเดกล่าวถึงเป้าหมายของการทำกิจกรรมนี้ว่า “ผมอยากให้คนรุ่นหลังได้เห็นวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง พร้อมทั้งป่าไม้และต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์”

นายณภัทร พนาศรมสันติ หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวถึงสิ่งที่ได้รับจากการร่วมกิจกรรมว่า “กิจกรรมนี้ทำให้เราได้ช่วยกันป้องกันไฟป่าและป้องกันน้ำท่วมในชุมชน อีกทั้งยังได้รับความรู้ในการดูแลรักษาธรรมชาติอีกด้วย”

กิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาคริสตจักรตอปลาเด

ปลูกป่า / สร้างฝายชะลอน้ำ / สร้างแนวกันไฟ / อนุรักษ์ปลา / รณรงค์การหยุดเผาป่า

 

ที่มาปัญหา

  • ชาวบ้านปลูกข้าวโพดมาขึ้น ทำให้พื้นที่ป่าลดลงและเกิดมลภาวะทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5
  • แหล่งต้นน้ำมีปริมาณน้ำลดลงทุกปี
  • อากาศร้อนขึ้นจากเดิม

 

จุดประสงค์

  • เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้คนในชุมชน
  • เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์ป่า
  • เพื่ออนุรักษ์พื้นที่บริเวณต้นน้ำให้มีความสมบูรณ์
  • เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า

 

การดำเนินงาน

มีการวางแผนดำเนินงานร่วมกันในชุมชน โดยการแบ่งกิจกรรมตามช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น สร้างแนวกันไฟในเดือนเมษายน และปลูกต้นไม้ในช่วงฤดูฝน เป็นต้น ซึ่งได้รับร่วมมือจากกรมป่าไม้ที่เดินทางเข้ามามอบต้นกล้าและต้นสักให้ชาวบ้านในชุมชน ระยะเวลาในการริเริ่มกิจกรรมจนถึงปัจจุบันรวม 17 ปี

 

ผลที่เกิดขึ้น

  • พื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์มากขึ้น
  • แหล่งต้นน้ำมีปริมาณน้ำมากขึ้น
  • ไฟป่าลดน้อยลง
  • ปริมาณฝุ่น PM 2.5 น้อยลง

 

ผู้มีส่วนร่วม

  • เยาวชนอายุ 12 ปีขึ้นไป
  • ผู้นำหมู่บ้าน
  • ผู้ปกครองคริสตจักร
  • กรมป่าไม้

 

จำนวนผู้ร่วมทำกิจกรรม

50 คน ขึ้นไป

 

ขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์

นายกฤษฎา รักนิรันดร์กาล ผู้จัดการโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนแบบองค์รวมประจำคริสตจักรตอปลาเด

ข่าว-บทความ ล่าสุด
แนะนำมูลนิธิฯ