9 หน้าแรก 5 การปกป้องเด็ก

การปกป้องเด็ก

ความปรารถนาในใจส่วนลึกของมนุษย์อย่างหนึ่งคือ การได้ปกป้องรักษาศักดิ์ศรีของตนเอง ศักดิ์ศรีของมนุษย์ไม่ได้เกิดจากความมั่งคั่ง สีผิว หรือชาติตระกูล แต่เป็นของขวัญจากพระเจ้า พระบิดาในสวรรค์ทรงถักทอเราในครรภ์มารดาอย่างปราณีต (สดด.139:13-17; สดด.22:9-11) เด็กทุกคนที่เกิดมาในโลกถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจงและมีเอกลักษณ์ และนี่คือจุดเริ่มต้นของความสำคัญและศักดิ์ศรีที่มีอยู่ในมนุษย์ เด็กแต่ละคนมีคุณค่าสำหรับพระเจ้า

พระเจ้ามีคำสั่งที่เฉพาะเจาะจงให้ประชากรของพระองค์ให้เกียรติเด็กในที่ประชุมและอนุญาตให้เด็กมีส่วนร่วมในการสนทนาเกี่ยวกับพระวจนะ (ฉธบ. 6:7; 11:19-21; 31:12-13; สดด. 78:4)

เด็กจะเปล่งคำสรรเสริญออกมาในแบบฉบับของตนเอง (สดด. 8:2; มธ. 21:14-16) พระเยซูทรงพอพระทัยในคำสรรเสริญตามแบบฉบับของเด็ก ๆ และไม่ต้องการให้ใครไปปิดกั้นพวกเขา พระองค์ทรงปกป้องเด็ก ๆ เมื่อเหล่าสาวกกีดกันไม่ให้พวกเขาเข้ามาหาพระองค์ (มธ.19:14) พระเยซูยังเตือนพวกผู้ใหญ่ไม่ให้ปฏิบัติต่อเด็กอย่างไม่สมควรและให้พวกเขาเป็นเหมือนเด็กเพราะแผ่นดินสวรรค์เป็นของเด็กเล็ก ๆ

เมื่อเด็กถูกทำร้ายหรือถูกกระทำทารุณ พระบิดาในสวรรค์ทรงเสด็จมาช่วยพวกเขา “พระองค์ประทานความยุติธรรมแก่ลูกกำพร้า” (ฉธบ. 10:18) เพราะพระองค์ทรงเป็น “พระบิดาของคนกำพร้า”(สดด. 68:5)

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เราจะสร้างแนวร่วมเพื่อต่อต้านการทารุณกรรมเด็กบนหลักการของพระคัมภีร์

การทารุณกรรมเด็กกับความรุนแรงภายในครอบครัว

ความรุนแรงภายในครอบครัวมักจะนำมาซึ่งการทารุณกรรมเด็ก ผลการวิจัยระดับโลกอีกชิ้นหนึ่งบ่งชี้ว่า “30-60 % ของครอบครัวที่มีการทารุณกรรมเด็กจะพบว่ามีการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว เช่นเดียวกับที่พบว่าครอบครัวที่ชอบใช้ความรุนแรงจะพบการทารุณกรรมเด็กเกิดขึ้นในครอบครัวนั้นด้วย”  (ที่มา: Tomison, Exploring Family Violence, page 9, cited in Don Brandt, Homes of Fear: The Curse of Family Violence, from World Vision Working Paper No. 6, page 39)

เมื่อพ่อแม่ทะเลาะกัน ลูก ๆ ก็พลอยไม่มีความสุขไปด้วย หลังจากที่พ่อของมิเรียมพบว่าแม่ของเธอนอกใจ เด็กน้อยก็ถูกตีจนช้ำไปทั้งตัว

การทารุณกรรมเด็กกับความยากจน

ความยากจนก่อให้เกิดความเครียดซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสร้างครอบครัวที่เข้มแข็งและนำมาซึ่งการทารุณกรรมเด็กได้โดยง่าย ดาเนียล โกลแมน ผู้เขียนหนังสือ เหตุใดความฉลาดทางอารมณ์จึงสำคัญกว่าไอคิว กล่าวว่า “ความกดดันอันเนื่องมาจากความยากจนจะกัดกร่อนชีวิตครอบครัว โดยพ่อแม่มีแนวโน้มที่จะให้ความรักความอบอุ่นกับลูกน้อยลง ผู้เป็นแม่ ซึ่งโดยมากมักจะต้องอยู่คนเดียวและตกงาน จะยิ่งหดหู่ และเริ่มลงโทษลูกแรงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ด่าทอ ทุบตี และทำร้ายร่างกาย” (อ้างอิง Goleman, Daniel. Emotional Intelligence: Why It Can Matter More Than IQ. New York, Bantam Books (1995), page 256)

การทารุณกรรมเด็กเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ในครอบครัวไม่ว่าจะจนหรือรวย แต่เด็กซึ่งเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจนจะได้รับผลกระทบง่ายกว่า นอกจากนี้ การร่วมประเวณีระหว่างพี่น้องท้องเดียวกันยังถือเป็นเรื่องปกติในชุมชนที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ความยากจนทำให้พ่อ (รวมไปถึงลุงและปู่ในหลายครอบครัว) ต้องอยู่รวมกับลูกซึ่งเป็นเด็กผู้หญิงภายในห้องเล็ก ๆ ต้องนอนบนเตียงเดียวกัน และใช้ตู้เสื้อผ้าและห้องน้ำร่วมกัน

เด็กยากจนส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ เนื่องจากพ่อแม่ไม่สามารถจัดหาสิ่งที่ดีเพื่อให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรง มีการศึกษา มีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ มีโภชนาการที่ถูกต้อง และมีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย ในเมื่อครอบครัวไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอให้กับเด็ก เราจึงไม่สามารถตำหนิผู้ที่สร้างความทุกข์ให้กับเด็กโดยการกระทำทารุณ แต่ควรจะโทษความเลวร้ายที่เกิดจากความยากจนมากกว่า นี่คือสาเหตุที่คอมแพสชั่นทำงานกับเด็กยากจน พวกเขาคือกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะได้รับผลกระทบจากความยากจน ซึ่งรวมไปถึงการกระทำทารุณ ความยากจนจะเพาะบ่มสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของการทารุณกรรมเด็ก แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างที่จะปัดความรับผิดชอบในการปกป้องและการเลี้ยงดูซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก

“ขณะนั้นเขาพาเด็กเล็ก ๆ มาหาพระองค์เพื่อจะให้พระองค์ทรงถูกต้องตัวเด็กนั้น แต่เหล่าสาวกก็ห้ามปรามไว้ เมื่อพระเยซูทรงเห็นดังนั้นก็ไม่พอพระทัย” มก. 10:13-14

การทารุณกรรมเด็กคืออะไร

เรื่องราวของมิเรียมเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เพราะมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งซึ่งช่วยเหลือตัวเอง

ไม่ได้เท่านั้น แต่เป็นเพราะมันยังคงเกิดกับเด็กอีกมากมายในปัจจุบัน

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตีพิมพ์ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจ (อ้างอิง WHO Fact Sheet N150, 1997) ไว้ดังนี้:

  • เด็ก 1 ใน 5,000-10,000 คน ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ต้องเสียชีวิตลงในแต่ละปีจากความบอบช้ำทางกายซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ความรุนแรง
  • ในแต่ละปีจะมีเด็กเกือบ 1 ใน 1,000 คนถูกนำตัวส่งสถานพยาบาล หรือมีเรื่องร้องเรียนไปยังกองสวัสดิการเด็กและเยาวชนว่าถูกกระทำทารุณ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้คำนิยามที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการทารุณกรรมเด็ก พร้อมกับรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติอย่างไม่สมควรต่อเด็กในรูปแบบต่างๆ ไว้ดังนี้:

การทารุณกรรมและการทำร้ายเด็ก ได้แก่ การปฏิบัติอย่างไม่สมควรต่อเด็กทั้งทางด้านร่างกาย และ/หรือจิตใจ, การล่วงเกินทางเพศ, การทอดทิ้ง, การปฏิบัติโดยไม่ใส่ใจ, การค้า หรือการแสวงหาประโยชน์จากเด็กในทุกรูปแบบ จนก่อให้เกิดอันตรายหรือมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ, ความอยู่รอด, การพัฒนา หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่มีต่อเด็กอันเกิดจากหน้าที่ ความรับผิดชอบ ความไว้วางใจ หรืออำนาจ

การทารุณกรรมจำแนกออกเป็น 4 ประเภท

1. การทารุณทางร่างกาย ได้แก่ การกระทำของผู้ดูแลเด็กที่ก่อให้เกิดอันตรายหรือมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของเด็ก

2. การล่วงละเมิดทางเพศ ได้แก่ การที่ผู้ดูแลเด็กใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการตอบสนองความต้องการทางเพศ

3. การทารุณจิตใจ ได้แก่ การที่ผู้ดูแลไม่ใส่ใจและไม่สร้างบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ซึ่งรวมไปถึงการมีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสภาพจิตของเด็ก เช่น การพูดจาดูถูก, เยาะเย้ย, ข่มขู่และทำให้สูญเสียความมั่นใจ, เลือกปฏิบัติ, ปฏิเสธ และพฤติกรรมในเชิงลบอื่น ๆ ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบทางด้านร่างกาย

ดร.เวสต์ สแตฟฟอร์ด สามารถพูดได้ไม่รู้จบถึงความเลวร้ายของการทารุณจิตใจเด็ก

“จิตวิญญาณของเด็กเล็ก ๆ ก็เหมือนกับปูนที่ยังไม่แห้ง…คำพูดที่โหดร้ายเพียงคำเดียว หรือการกระทำที่โหดเหี้ยมเพียงครั้งเดียวสามารถทำลายชีวิตทั้งชีวิตได้! ซาตานรู้เรื่องนี้ดี เวลาที่ผมแบ่งปันเรื่องนี้กับผู้คนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมมักจะเห็นน้ำตาของพวกเขาเอ่อล้นออกมา พวกเขาสามารถจำได้อย่างแม่นยำว่าใครคือคนที่เกือบจะทำลายชีวิตของพวกเขาในวัยเด็ก”

“น่าเสียดายที่คุณมักจะบอกชื่อของคนที่ทำลายคุณได้ง่ายกว่าคนที่มีอิทธิพลในทางบวกต่อชีวิตของคุณ มีใครจากที่ไหนก็ไม่รู้มาจ้องมองคุณแล้วบอกว่าคุณน่าเกลียด บางคนก็บอกว่าคุณโง่ ซุ่มซ่าม ไร้ค่า หรือไม่ก็ดื้อดึง คำพูดเหล่านี้ยังคงฝังอยู่ในจิตวิญญาณของคุณและคุณยังคงปล้ำสู้กับมัน”

ตัวอย่างของการทารุณจิตใจยังคงมีให้เห็นตลอดเวลา แต่ไม่มีการบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐานและไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ ผู้กระทำผิดจะทำอย่างไรก็ได้ เพราะไม่มีใครสามารถฟ้องร้องหรือจับคนเข้า

คุกเพราะเรื่องนี้ได้ เด็กอาจเคยถูกทำร้ายและผลของมันอาจจะยังคงอยู่เป็นแรมปีโดยที่ไม่มีใครรู้ จิตวิญญาณดวงน้อยค่อย ๆ ถูกกัดกร่อนเหมือนกับไม้ที่ถูกปลวกกัดกิน         

4. การละเลยหรือทอดทิ้ง ได้แก่ การที่พ่อแม่ไม่รับผิดชอบในการจัดหาสิ่งที่ดีเพื่อพัฒนาการที่ดีของลูก ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ การศึกษา การพัฒนาทางด้านอารมณ์ โภชนาการ ที่อยู่อาศัย และสภาพความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย (เราจะถือว่าครอบครัวหรือผู้ดูแลทอดทิ้งเด็กก็ต่อเมื่อพวกเขาละเลยต่อหน้าที่ทั้ง ๆ ที่มีความสามารถ)