คอมแพสชั่นเชื่อว่า คริสตจักร คือความหวังที่ยิ่งใหญ่ของโลกและเป็นเครื่องมือของพระเจ้าในการทำให้อาณาจักรของพระองค์รุดหน้าไป เราระดมกำลังและเชื่อมต่อพระกายของพระคริสต์ทั่วโลกเพื่อทำให้คำบัญชาสำหรับคริสตจักรสำเร็จในด้านการสร้างสาวกแบบองค์รวมสำหรับเด็ก ๆ ที่อยู่ในความยากจน
การร่วมงานกับคริสตจักรในฐานะคู่มิตร
คอมแพสชั่นเชื่อว่า พระเจ้าทรงสถาปนาคริสตจักรไว้ท่ามกลางชุมชนเพื่อเป็นพยานถึงการทรงเรียกของพระเจ้าที่มีตอ่ เด็กและครอบครัวซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนนั้น คริสตจักรจึงเป็นที่ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาแบบองค์รวมในชีวิตของเด็กได้อย่างครบถ้วน เพราะคริสตจักรสามารถจัดกิจกรรมด้านจิตวิญญาณให้กับเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นการสอนเรื่องพระเจ้า การฝึกฝนเด็กให้มีหัวใจแห่งการรับใช้และมีความรักห่วงใยผู้อื่นในสังคม อันเป็นรากฐานแห่งคุณลักษณะที่สำคัญยิ่งในตัวบุคคลที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุปนิสัยและศักยภาพในด้านอื่นๆ ต่อไป
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ “คริสตจักร” ตั้งอยู่ในชุมชน และเด็กก็เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชน คริสตจักรจึงมีความสะดวกในการพบปะเยี่ยมเยียนและดูแลเด็ก ๆ เป็นรายบุคคล ด้วยเหตุนี้ “คริสตจักร” ที่เป็นคู่มิตรของคอมแพสชั่น จึงทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเด็กโดยตรงและรับผิดชอบจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็ก
คอมแพสชั่นร่วมงานกับ “คริสตจักร” โดยสนับสนุน “คริสตจักร” ในด้านปัจจัย เครื่องมือและองค์ความรู้ในการพัฒนาเด็ก เพื่อส่งเสริมให้ “คริสตจักร” สามารถสร้างสรรค์กิจกรรม การพัฒนาเด็กแบบองค์รวมตามบริบทของท้องถิ่นให้แก่เด็กแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
คริสตจักรในกิจการบทที่ 2
ฤทธิ์เดชของพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้เพียงสำแดงให้เห็นอย่างเด่นชัดเมื่อคริสตจักรถือกำเนิดขึ้นเท่านั้นแต่ได้กระทำกิจอย่างต่อเนื่องในทุกวัน คริสตจักรไม่เพียงถือกำเนิดโดยฤทธิ์เดช (กจ. 5:29) แต่ประกอบกิจอย่างต่อเนื่องโดยฤทธิ์เดชนั้นด้วย (กจ. 2:43; 3:12; 4:7, 30, 33; 5:12) ลูกาเขียนรายการยาวเหยียดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ติดตามพระเยซูในยุคแรกได้รับพลังให้กลายเป็นคริสตจักร ยกตัวอย่างเช่น
- ฤทธิ์เดชของพระวิญญาณบริสุทธิ์เติมเต็มชุมชนใหม่ด้วยความรักแบบ agape ซึ่งก่อให้เกิด “ความกล้าหาญ” ขึ้นในเวลาต่อมา คริสตจักรจึงกลายเป็นชุมชนที่กล้าหาญที่ไม่ยอมประนีประนอม (กจ. 2:36; 4:13, 31)
- พวกเขาพัฒนาจิตสำนึกอันแรงกล้าในเรื่องการทรงเรียกและความมุ่งมั่น[1]
- ความรักแท้และความห่วงใยอันลึกซึ้งต่อกันและกันปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในวิถีที่บุคคลในคริสตจักรอุทิศตนเพื่อเข้าส่วนในการสามัคคีธรรมทุกวัน
- พวกเขาแสดงออกถึงการมีใจกว้างขวางอย่างเหลือล้น ความรักของพวกเขาปรากฏให้เห็นเป็นการกระทำ ดังนั้นจึงไม่มีคนขัดสนท่ามกลางพวกเขา
- ความคิดและจิตใจของบรรดาผู้เชื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ( กจ. 4:32)
- คำพยานของพวกเขาได้รับการรับรองด้วยหมายสำคัญและการอัศจรรย์ ประชาชนมองดูคริสตจักรด้วยความเคารพ ยำเกรง และอัศจรรย์ใจอย่างใหญ่หลวง (กจ. 2:7, 43; 3:10; 5:11)
- นับตั้งแต่วันแรก คริสตจักรเป็นชุมชนที่กำลังเติบโตอย่างทรงพลัง (กจ. 2:41, 47; 4:4; 6:1, 7)
พระมหาบัญชา : ที่มอบให้กับคริสตจักร
ในพระธรรมกิจการ ลูกาได้สรุปว่าพระเยซูทรงใช้เวลา 40 วันสุดท้ายอย่างไรในการทำภารกิจของพระองค์บนโลก ดังนี้
“ครั้นพระองค์ทรงทนทุกข์ทรมานแล้ว ได้ทรงแสดงพระองค์แก่คนพวกนั้นด้วยหลักฐานหลายอย่าง พิสูจน์ว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ และได้ทรงปรากฏแก่เขาทั้งหลายระหว่างสี่สิบวัน และได้ทรงสนทนากับเขาถึงเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า” — กจ. 1:3
ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับผู้ประกาศคนอื่น ๆ ลูกาได้สรุปภารกิจหลักสามด้านที่พระเยซูมีส่วนร่วมและทำให้สำเร็จในช่วงสี่สิบวันนั้นอันได้แก่
- การพิสูจน์กับสาวกของพระองค์ว่า พระองค์ทรงเป็นขึ้นจากความตายจริง ๆ และนี่คือรากฐานของความเชื่อศรัทธาแบบใหม่
- การช่วยเหลือสาวกของพระองค์ให้เข้าใจ “ภาพใหญ่” คือแผ่นดินของพระเจ้า และ
- การมอบพระมหาบัญชาไว้ในความรับผิดชอบของสาวกของพระองค์ อันเป็น “ภารกิจของคริสตจักร”
ภายในสี่สิบวันนั้นและอาจจะเป็นในช่วงท้าย ๆ พระเยซูทรงมอบหมายพระมหาบัญชาแก่เหล่าสาวกของพระองค์แต่ทรงขอให้พวกเขา “รออยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม” (ซึ่งแปลว่า “อย่าเพิ่งเริ่มดำเนินการในเรื่องพระมหาบัญชา”) จนกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จลงมาบนพวกเขา อันเป็นเครื่องหมายของการกำเนิดคริสตจักร คนกลุ่มเดียวกันนี้ที่เคยถูกเรียกว่าสาวกสิบสองคน เหล่าสาวก และพวกที่ติดตามพระเยซู บัดนี้โดยบัพติศมาของพระวิญญาณบริสุทธิ์พวกเขาถูกเรียกว่า คริสตจักร (กจ. 1:5) พวกเขาไม่ใช่คน 12 คน หรือ 120 คนที่ติดตามพระเยซูอีกต่อไป แต่เป็นชุมชนแห่งอาณาจักรที่มีพลังขับเคลื่อนซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบพระมหาบัญชา
ภารกิจของคริสตจักร : การสร้างสาวก
พระมหาบัญชาทำให้เราเห็นรูปร่างภารกิจของคริสตจักร ซึ่งก็คือการสร้างสาวก คำว่า “สร้างสาวก” (matheteuo) ปรากฏอยู่ 4 ครั้งในพันธสัญญาใหม่ (มธ. 13:52; 27:57; 28:19; กจ. 14:21) จาก 4 ครั้งที่ปรากฎนี้ มีเพียงในมัทธิว 28:19 เท่านั้นที่คำกริยานี้ปรากฎในเชิงบังคับหรือในรูปคำสั่ง
“พระเยซูจึงเสด็จเข้ามาใกล้แล้วตรัสกับเขาว่า “ฤทธานุภาพทั้งสิ้นในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดีทรงมอบไว้แก่เราแล้ว เหตุฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ ให้เป็นสาวกของเรา ให้รับบัพติศมาในพระนามแห่งพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้ นี่แหละเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไปจนกว่าจะสิ้นยุค” — มธ. 28:18-20
คำกริยา “จงสร้างสาวก” ซึ่งปรากฏในรูปคำสั่งในมัทธิว 28:19 ได้กำหนดหน้าที่หลักอันเป็นคำสั่งที่สำคัญที่สุดในพระมหาบัญชา มัทธิวใช้กริยาที่ทำหน้าที่เป็นคุณศัพท์ 3 คำควบคู่ไปกับกริยาในรูปคำสั่ง คือ คำว่า poreuthentes (การออกไป) baptizontes (การให้บัพติศมา) และ didaskontes (การสั่งสอน) ทั้งนี้คำว่า “การให้บัพติศมา” และ “การสั่งสอน” นั้นเป็นการสรุปความว่าภารกิจการสร้างสาวกจะต้องดำเนินไปอย่างไร ด้วยเหตุนี้เราจึงอาจแปลคำสั่งนี้ได้ว่า “ขณะเมื่อท่านกำลังให้บัพติศมาแก่ประชาชน จงสร้างพวกเขาให้เป็นสาวก ขณะเมื่อท่านกำลังสั่งสอนประชาชนให้เชื่อฟังคำบัญชาทั้งสิ้นของเรา จงสร้างพวกเขาให้เป็นสาวกของเรา”
คริสตจักรมีภารกิจเพียงอย่างเดียว คือ การสร้างสาวก ในพระมหาบัญชานั้นพระเยซูไม่ได้สั่งให้คริสตจักร “มีส่วนในการสร้างสาวก และ ดูแลคนขัดสน” หรือ “สร้างสาวก และ ดูแลสิ่งทรงสร้าง” หรือ “สร้างสาวก และ มีส่วนในพื้นที่สาธารณะ” นี่เป็นเพราะการสร้างสาวก ครอบคลุม ทุก ๆ ด้านเหล่านี้ เป้าหมายสูงสุดของการสร้างสาวกคือแผ่นดินของพระเจ้า ซึ่งก็คือการครอบครองของพระเจ้าในชีวิตของแต่ละคนและการสะท้อนการครอบครองนี้ในครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ
กระบวนการการสร้างสาวกมีความเป็นองค์รวมโดยธรรมชาติ พระเยซูไม่ได้มอบหมายให้คริสตจักรขุดรากถอนโคนความยากจน แต่ทรงบอกให้คริสตจักรสร้างสาวก และโดยผ่านกระบวนการสร้างสาวกนี้ ความยากจนควรถูกกำจัดออกไปเมื่อแผ่นดินของพระเจ้ารุกคืบไป
ความเป็นผู้นำและโครงสร้างของคริสตจักรท้องถิ่นควรได้รับการออกแบบเพื่อเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในสมาชิกทุกคนให้เป็นผู้เชื่อที่เติบโตในการเป็นเหมือนพระคริสต์
ของประทานของพระองค์ ก็คือให้บางคนเป็นอัครทูต บางคนเป็นผู้เผยพระวจนะ บางคนเป็นผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ บางคนเป็นศิษยาภิบาลและอาจารย์ เพื่อเตรียมธรรมิกชนให้เป็นคนที่จะรับใช้ เพื่อเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์ให้จำเริญขึ้น จนกว่าเราทุกคนจะบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ และในความรู้ถึงพระบุตรของพระเจ้า จนกว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ คือเต็มถึงขนาดความไพบูลย์ของพระคริสต์ — อฟ.4:11-13
คริสตจักรของเราควรเป็นศูนย์กลางในการสร้างความพร้อมเพื่อเตรียมประชากรของพระเจ้าสำหรับการรับใช้ การรับใช้ผู้อื่นจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับพระกายของพระคริสต์และสร้างการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตขึ้นในชีวิตของแต่ละคน หากปราศจากการรับใช้ การเติบโตฝ่ายวิญญาณทั้งในผู้เชื่อแต่ละคนและในชุมชนผู้เชื่อก็จะมีความจำกัด เปาโล กล่าวไว้ในพระธรรมเอเฟซัสว่า จนกว่าพระกายทั้งหมดจะอยู่ในการรับใช้ คือ แต่ละคนทำหน้าที่ของตน พระกายของพระคริสต์จึงจะได้รับการเสริมสร้างและเข้มแข็งขึ้น
การอุทิศตนของคอมแพสชั่นต่อคริสตจักร
คอมแพสชั่นได้อุทิศตนเองต่อคริสตจักร คือผู้เชื่อในท้องถิ่น อันเป็นชุมชนที่มีพลังขับเคลื่อนของกลุ่มคนที่กำลังสร้างสาวกโดยได้รับฤทธิ์เดชจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราอุทิศตนต่อคริสตจักร คือพระกายสากลของผู้เชื่อหรืออัตลักษณ์ฝ่ายวิญญาณที่อยู่เหนือสถานที่และกาลเวลา
การอุทิศตนของเราต่อคริสตจักรแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งที่สุดโดยการอุทิศตนเข้าเป็นพันธมิตรกับคริสตจักรท้องถิ่นเพื่อทำให้พันธกิจของเราสำเร็จลุล่วง ค่านิยมหลักของเราบอกว่า “คริสตจักร คือ ความหวังที่ยิ่งใหญ่ของโลกและเป็นเครื่องมือของพระเจ้าในการทำให้อาณาจักรของพระเจ้ารุดหน้าไป เราระดมกำลังและเชื่อมต่อพระกายของพระคริสต์ทั่วโลกเพื่อทำให้คำบัญชาสำหรับคริสตจักรสำเร็จในด้านการสร้างสาวกแบบองค์รวมสำหรับเด็ก ๆ ที่อยู่ในความยากจน”
เราอุทิศตนต่อคริสตจักรท้องถิ่น ซึ่งเป็นด่านหน้าในท้องถิ่นของพระกายของพระคริสต์ คอมแพสชั่นนิยามว่าคริสตจักรท้องถิ่นคือ “กายของผู้เชื่อในระดับท้องถิ่นซึ่งเป็นที่รู้จักในชุมชนในฐานะศูนย์กลางการนมัสการและการประกาศที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ”
คอมแพสชั่นรับใช้ในฐานะสะพานที่เชื่อมอวัยวะต่าง ๆ ในพระกายของพระคริสต์เพื่อช่วยคริสตจักรให้บรรลุจุดหมายปลายทางของตนเอง คอมแพสชั่นเป็นผู้ประสานพระพรที่ไหลล้นอยู่ท่ามกลางคริสตจักรในส่วนต่าง ๆ ของโลก คริสตจักรเป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งในฝ่ายวิญญาณและมีกายเดียว มันเป็นธรรมชาติและเรื่องปกติมากที่ทรัพยากรต่าง ๆ และความรักจะหลั่งไหลอย่างอิสระไปทั่วร่างกายนี้ เช่นเดียวกันกับคริสตจักรในยุคแรกที่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติที่จะช่วยเหลือพี่น้องที่ขาดแคลนในกรุงเยรูซาเล็มในช่วงเวลาที่ยากลำบากของพวกเขา ในปัจจุบันมันก็เป็นเรื่องปกติเช่นกันที่อวัยวะที่มีทรัพยากรอย่างอุดมจะเป็นพันธมิตรกับอวัยวะที่ขาดแคลนทรัพยากร เพื่อให้พันธกิจรุดหน้าไปและพระเยซูทรงได้รับพระเกียรติ
เป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าใจว่าเราไม่ได้ทำงาน ผ่าน คริสตจักร ตรงกันข้าม เราทำงาน ร่วมกับ คริสตจักร พวกเขาเป็นเพื่อนร่วมงานของเรา ไม่ใช่เครื่องมือที่เราจะใช้ การทำงานกับคริสตจักรเป็นมากกว่ายุทธวิธี เราเชื่อว่าแท้จริงแล้วเราไม่มีทางเลือกอื่น คริสตจักรคือแผนการเดียวของพระเจ้าในการช่วยโลกให้รอด ไม่มี “แผน B” เมื่อการทำงานเสร็จสิ้นลงมันไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับเรา(คอมแพสชั่น) แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับคริสตจักร ดังนั้นเราจึงเข้าหาคริสตจักรด้วยท่าทีที่อ่อนน้อมเพราะแท้จริงแล้วมันเป็นสิทธิพิเศษสำหรับเราที่จะเป็นพันธมิตรกับพวกเขาในการมีชีวิตตามพระมหาบัญชาและภารกิจที่ยิ่งใหญ่
คอมแพสชั่นระลึกว่าคริสตจักรคู่สัญญาแต่ละแห่งสะท้อนถึงความเป็นเจ้าสาวของพระคริสต์ในระดับบุคคลและท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ เราจึงปฏิญาณตนดังต่อไปนี้
คอมแพสชั่นจะให้เกียรติและเคารพคริสตจักรท้องถิ่นในขณะที่เรามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
คอมแพสชั่นจะยึดถือบทบาทของเราในฐานะ “องค์กรพันธกิจ” และยืนยันว่าตามการออกแบบของพระเจ้านั้นเราได้รับการทรงเรียกให้รับใช้คริสตจักร
คอมแพสชั่นยอมรับว่าเรากำลังรับใช้และสนับสนุนพันธกิจของคริสตจักรท้องถิ่นในด้านเด็ก มากกว่าที่จะให้คริสตจักรเป็นเพียงเครื่องมือหรือช่องทางของ “โครงการคอมแพสชั่น”
คอมแพสชั่นประสานพระกายของพระคริสต์ทั่วโลกเข้าด้วยกันเพื่อทำให้พันธกิจของคริสตจักรในการสร้างสาวกบรรลุผลมากขึ้นโดยการมีส่วนร่วมพัฒนาเด็กยากไร้แบบองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ
จุดยืนของคอมแพสชั่น
- ทำงานร่วมกับคริสตจักรท้องถิ่นในฐานะคู่มิตร
- สนับสนุนคริสตจักรในการทำพันธกิจเด็ก
- ส่งเสริม “ความเป็นเจ้าของโครงการ” ของคริสตจักรท้องถิ่น
- เด็ก คือกลุ่มเป้าหมายในการทำพันธกิจ
- ไม่เน้นสงเคราะห์ แต่จะเน้นพัฒนา
- มุ่งเน้นการพัฒนาเด็กแบบองค์รวม ไม่ใช่การพัฒนาเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง
- คำนึงถึงผลประโยชน์ที่เด็กจะได้รับเป็นสำคัญ
- ทำพันธกิจบนพื้นฐานด้านจิตวิญญาณ โดยจะมีการนำเสนอข่าวประเสริฐและสอนเรื่องพระเจ้า ให้กับเด็ก แต่ไม่มีการบังคับให้เชื่อหรือเปลี่ยนศาสนา ฉะนั้นคริสตจักรต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองตั้งแต่แรกเพื่อไม่ให้มีปัญหาในภายหลัง
- มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง โดยผู้ปกครองจะต้องเข้ามามีส่วนในการพัฒนาบุตรหลานของตนเอง
- ไม่ลงทะเบียนเด็กซํ้าซ้อนกับองค์กรอื่นที่มีรูปแบบการอุปการะเด็กในลักษณะเดียวกัน (สำหรับเด็กที่จะเข้าร่วมโครงการในระบบการอุปการะ)