“เดินตาม Passion*”
ลิเดียร์ วิสุทธิพร จารุพงษ์ เยาวชน คริสตจักรฟ้าห่วน
ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมนำเสนอความคิดเห็นในด้านสิทธิมนุษยชน ในการประชุม “Lutheran World Federation Youth” ที่ประเทศรวันดา ทวีปแอฟริกา
ความเป็นผู้นำและความกระตือรือร้นของลิเดียร์ ทำให้เธอได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม “Lutheran World Federation Youth” ที่ประเทศรวันดา ทวีปแอฟริกา กับเพื่อนเยาวชนจาก 11 ประเทศ นับเป็นประสบการณ์ที่ดี และเป็นสิ่งยืนยันใน Passion* ของเธอที่อยากจะทำงานในด้านสิทธิมนุษยชน มุ่งเน้นกับ “เด็ก”
“หนูได้นำเสนอพันธกิจในคริสตจักรของหนู คือ พันธกิจเด็กและเยาวชน ที่ทำร่วมกับคอมแพสชั่น โดยมีชื่อว่า โครงการ Home Hug Kids TH-415 นำเสนอบทบาทที่เรามีต่อชุมชนในการร่วมพัฒนาเด็กและเยาวชน และเล่าเรื่องราวที่เราสามารถช่วยให้เด็ก ๆ ในชุมชนมีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาทั้งในด้านวิชาการและความรู้รอบตัวอย่างยั่งยืน อีกทั้งสร้างสรรค์และเป็นแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพในอนาคต”
ลิเดียร์ หรือชื่อจริงว่า นางสาววิสุทธิพร จารุพงษ์ อายุ 23 ปี เป็นสมาชิกอยู่ที่คริสตจักรฟ้าห่วน จ.อุบลราชธานี ลิเดียร์มาจากครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน เป็นครอบครัวคริสเตียน และมีพ่อแม่เป็นศิษยาภิบาล ลิเดียร์เป็นลูกสาวคนโต เธอมีน้องสาว 1 คนและน้องชายอีก 1 คน ขณะนี้เธอเรียนในระดับอุดมศึกษา ปีที่ 5 คณะคุรุศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ส่วนน้อง ๆ ก็กำลังศึกษาอยู่ด้วยเช่นกัน
ลิเดียร์เข้ามาอยู่ในโครงการพัฒนาเด็กแบบองค์รวมของคริสตจักรฟ้าห่วน ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ หรือขณะเรียนอยู่ชั้น ป.2 ลิเดียร์เล่าว่า เธอเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นได้ง่าย พูดเก่ง ร่าเริงแจ่มใสและเป็นคนตัดสินใจเร็ว และเธอก็ยอมรับว่าเธอมีข้อเสียคือใจร้อน แต่ลิเดียร์มีความเป็นผู้นำตั้งแต่ยังเด็ก มีภาพลักษณ์ต่อตนเองในเชิงบวก และรู้จักตนเอง เธอเล่าให้ฟังว่า ถ้าอยู่ในโรงเรียนก็จะเป็นประธานอยู่ในสภานักเรียน หรือเป็นประธานชมรมภาษาอังกฤษ เป็นประธานของอนุชนของคริสตจักร นำนมัสการ เป็นผู้นำของวงนมัสการ เป็นรองประธานอนุชนของคริสตจักรลูเธอร์แรนในเขตอุบลฯ โดยในทุกชั้นปีตั้งแต่ชั้นประถม เธอเป็นผู้นำมาตลอด บทบาทของการเป็นผู้นำทำให้เธอกล้าคิด กล้าแสดงออก และมีวิสัยทัศน์ที่ดี
ลิเดียร์ได้เข้าร่วมในโครงการที่ชื่อว่า Lutheran World Federation Youth ที่ประเทศรวันดา ทวีปแอฟริกา เมื่อวันที่ 5 – 13 ธันวาคม 2565 การประชุมนี้เป็นการประชุมของคริสตจักรในเครือลูเธอร์รัน เธอได้เข้าร่วมกับอนุชนจากประเทศต่าง ๆ ทำกิจกรรมในเรื่อง Peace Messenger เกี่ยวกับการสร้างสันติภาพ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 30 คน เธอเล่าว่า
“หนูส่งชื่อเข้าไปให้ทางคณะกรรมการและบิชอป ของสภาคริสตจักรลูเธอร์รันว่าหนูมีความต้องการที่จะไป และเรามีคุณสมบัติในด้านนี้นะ เขาก็ส่งชื่อหนูไปที่สำนักงานใหญ่ที่เจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ และทางนั้นก็คัดรายชื่อมา และหนูก็ถูกคัดเลือกค่ะ แล้วหนูได้รับเมลว่าจะต้องไปอบรมที่ประเทศรวันดา หนูก็ตกลงไป ลาทางโรงเรียน เขียนบันทึกข้อความส่งครูพี่เลี้ยง ครูนิเทศประจำโรงเรียน ส่งฝ่ายบริหาร ส่งทางฝ่ายฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ก็โชคดีที่เค้าสนับสนุนค่ะ พอไปถึงก็จะเรียนเกี่ยวกับบทเรียนต่าง ๆ ในการสร้างสันติภาพค่ะ สันติภาพคืออะไร ข้อดีและข้อเสียมีอะไรมั้ย แล้วก็ได้ไปดูพิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของประเทศเขาค่ะ และเราก็มาถอดบทเรียนว่า ที่เราได้ไปดูเนี่ย ช่วยเรายังไงบ้างหรือเราได้รับอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ แบบพัฒนาเรื่องสันติภาพของเรา และก็มีโอกาสได้นำเสนอ เกี่ยวกับสิ่งที่เราคิดว่าเป็นจุดขัดแย้งในการสร้างสันติภาพของประเทศเรา แล้วก็อะไรคือจุดเด่นในการสร้างสันติภาพในประเทศเรา และคริสตจักรของเรามีการสนับสนุนทางด้านนี้ไหม”
ในที่ประชุมเธอได้ไปบรรยายเรื่อง “โอกาสทางการศึกษาในประเทศไทย” ให้กับอนุชนประเทศอื่น ๆ ซึ่งมี อนุชนจากประเทศรวันดา อินโดนีเซีย อเมริกา สโลวาเกีย เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ เซาท์แอฟริกา คาเมรูน เคนยา คองโก และกัวเตมาลา รวมแล้วประมาณ 20 คน ซึ่งอนุชนในแต่ละประเทศก็มีโอกาสได้พูดถึงแนวทางสันติภาพของประเทศตนเอง “แต่ละคนจะดูโครงสร้างประเทศของตนเองและนำเสนอ เช่น ในเรื่องปัญหาของของสิ่งแวดล้อม เรื่องรัฐบาลที่กีดกันเขา หรือพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาอิสลามกับศาสนาคริสต์ในอินโดนีเซีย” แรงบันดาลใจของลิเดียร์ที่นำไปนำเสนอนั้น คือความไม่เท่าเทียมของโอกาสทางการศึกษาในประเทศไทย เป็นมุมมองที่เธอเองปัจจุบันเป็นครู และอดีตเธอก็เป็นนักเรียนคนหนึ่ง
“มันมีปัญหาพวกนี้มานานแล้ว ถึงแม้ว่าคนอื่นจะมองว่ามันไม่ใช่ปัญหา มันไม่ใช่ความขัดแย้งหลักของประเทศ มันไม่ได้เป็นปัญหาในการสร้างสันติภาพ แต่หนูมองว่ามันเป็นค่ะ เพราะหนูเห็นว่าการศึกษามันไม่เท่าเทียมกัน และเข้าไม่ถึงทุกคน ต่อให้เด็กไทยทุกคนจะมีสิทธิ์เรียนหนังสือ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาที่ดี พวกเค้ามองไม่เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา หนูรู้สึกว่าพอเราไม่ได้รับการศึกษาที่ดีหรือมองเห็นความสำคัญของการศึกษา มันก็ส่งผลกับเรื่องอื่น ๆ เช่น เค้าก็จะไม่รู้จักความเท่าเทียม เค้าก็จะไม่รู้จักกฎหมาย เค้าก็จะไม่รู้จักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และไม่รู้อะไรเลย เค้าจะไม่มีฝันที่จับต้องได้ ไม่มีจินตนาการเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง และก็ส่งผลให้รีบออกจากโรงเรียนเพื่อจะแต่งงาน มีการท้องก่อนแต่ง มีการคิดว่าทำอะไรก็ได้ขอแค่มีเงินเลี้ยงชีวิตไปวัน ๆ หรืออะไรอย่างนี้ มันก็ส่งผลหลาย ๆ อย่างกับประเทศ ส่งผลต่อความขัดแย้งอื่น ๆ ในประเทศ หนูก็เลยคิดว่าอันนี้คือสิ่งสำคัญที่สุด แล้วก็หนูคิดว่ามันเป็นปัญหาหลักเลยในการที่เราจะสร้างสันติภาพ หนูก็เลยเอาเรื่องนี้ค่ะ”
การเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เธอได้เตรียมเนื้อหาและสไลด์ต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ ด้วยตัวเองทั้งหมด และได้ออกไปนำเสนอเป็นเวลา 5-10 นาทีจากนั้นก็เข้ากลุ่มแบ่งปันความคิดเห็นกัน เรื่องภาษานั้นไม่เป็นอุปสรรคเพราะทุกคนต่างเปิดใจเข้าหากันเป็นอย่างดี
“หนูได้นำเสนอพันธกิจในคริสตจักรของหนู คือ พันธกิจเด็กและเยาวชน ที่ทำร่วมกับคอมแพสชั่น โดยมีชื่อว่า โครงการ Home Hug Kids TH-415 นำเสนอบทบาทที่เรามีต่อชุมชนในการร่วมพัฒนาเด็กและเยาวชน และเล่าเรื่องราวที่เราสามารถช่วยให้เด็ก ๆ ในชุมชนมีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาทั้งในด้านวิชาการและความรู้รอบตัวอย่างยั่งยืน อีกทั้งสร้างสรรค์และเป็นแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพในอนาคต”
ลิเดียร์เล่าว่า รู้สึกประทับใจเพื่อน ๆ ที่ไปอบรมด้วยกันมากที่สุด ถึงแม้ว่ามาจากต่างที่กัน แต่ทุกคนเคารพกัน ทุกคนเก่ง เก่งในศาสตร์ของตัวเอง สิ่งที่ตัวเองเตรียมมา แม่นยำและเปิดรับซึ่งกันและกัน ทุกคนก็รับฟังคนอื่นเรียนรู้อย่างเต็มใจ แล้วก็ถ่ายทอดเรื่องของตัวเองได้ดี
อีกเรื่องหนึ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการที่ได้ไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ โดยการเป็นเยี่ยมนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้มาเยือนประเทศรวันดาให้ความสนใจ เพราะเป็นเรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดาและการพัฒนาประเทศหลังเหตุการณ์รุนแรงนั้น โดยสาเหตุเกิดจากความขัดแย้งของเผ่า 2 เผ่า มีการใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการสังหารผู้อื่นอย่างโหดร้ายทารุณ โดยให้เด็กเสพยาเสพติดและถูกบังคับให้ลงมือตัดแขน ตัดขา หรือสังหาร คนที่เด็ก ๆ เหล่านั้นรู้จัก โดยในปัจจุบันเด็กเหล่านั้นก็ไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ เพราะประสบการณ์ที่เจ็บปวดเหล่านี้ได้เกาะกินหัวใจของพวกเขา
“สำหรับหนู มันก็หดหู่ใจ แล้วก็คิดว่าหลาย ๆ ที่ในโลกก็อาจมีเหตุการณ์แบบนี้ อาจจะไม่เชิงถึงกับฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ แต่มีการใช้ความรุนแรงทำให้คนตายอย่างนี้เยอะอยู่เหมือนกัน และหนูก็คิดว่าประเทศของเราก็คงมี และหนูก็ชื่นชมตรงที่..เหมือนเค้าผ่านจุดนั้นมา แต่ตอนนี้ประเทศของเขาเป็นประเทศที่พัฒนามากค่ะ ขึ้นชื่อว่าเป็น ฮาท ออฟแอฟริกา (Heart of Africa) เลยค่ะ เป็นแบบว่า เป็นสิงคโปร์ของแอฟริกาเลยค่ะ คือเจริญสุด สะอาดสุด ผู้คนมีการศึกษา และหนูชื่นชมที่เค้าทำให้อดีตที่มันโหดร้ายเป็นแรงผลักดันทำให้เค้ากลายเป็นประเทศที่มันดีได้อย่างนี้ แล้วมีข้อความที่หนูชอบ อาจจะเป็นเพราะว่าหนูมีแพสชั่น (Passion) ด้านเด็กค่ะ มีประโยคนึงที่เขาบอกกับลูกหลานของเขาว่า ตอนนี้พวกคุณเป็นปัจจุบันของชาติแล้ว ต่อไปพวกคุณก็เป็นอนาคตของชาติ มันทัชใจหนูมาก หนูชอบประโยคนี้ที่สุดค่ะ”
และนี่คือสิ่งที่ลิเดียร์อยากทำต่อไปในอนาคต คืออยากทำงานด้านเด็ก เพราะตอนนี้เธอได้รับทุนที่เรียกว่า ทุนครูคืนถิ่น คือทุนที่เธอไม่ต้องสอบบรรจุ ก็สามารถเข้ารับราชการครูได้เลย หรือถ้าไม่ทำงานครู ลิเดียร์ก็อยากทำงานเกี่ยวกับสังคมด้านการพัฒนาเด็กในโครงการในชุมชนของเธอเอง
ความเป็นผู้นำ และทัศนคติของลิเดียร์ เป็นแบบอย่างที่ดี เธอมีความคิดในเชิงบวกต่อตนเอง มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น มีความเห็นใจและมีใจที่มีศีลธรรม ไม่ว่าอนาคตเธอจะเป็นครู หรือทำงานด้านการพัฒนาเด็ก “เด็ก” ก็ยังคงเป็นเป้าหมายที่เธอจะสร้างพวกเขาให้เติบโตเป็นคนรุ่นต่อไปที่มีอนาคตที่ดีอย่างแน่นอน
*คำว่า Passion (แพสชัน) ในที่นี้ หมายถึง การมีใจรักในอะไรสักอย่าง และเป็นแรงผลักดันเราให้ทำในสิ่งที่เรารักนั้น