คริสตจักรห้วยน้ำขาว
คริสตจักรห้วยน้ำขาว สังกัดสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยภาค 19 เครือข่ายกะเหรี่ยงแบ๊บติสต์ ตั้งอยู่ในตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมี อาจารย์ สมศักดิ์ คล่องกระโจนคีรี เป็นศิษยาภิบาล บริบทเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในชนบท มีประชากรทั้งหมด 300 กว่าหลังคาเรือน อีกทั้งบริเวณโดยรอบก็มีอีกหลายหมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ผสมผสานระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองกับกะเหรี่ยง จึงมีความเชื่อจากประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่นับถือผีและศาสนาพุทธ แม้ว่าในช่วงเริ่มแรก ของการทำพันธกิจของคริสตจักรจะเผชิญกับความไม่เข้าใจจากชุมชนเนื่องจากมีความแตกต่างทางความเชื่อ แต่นานวันเข้า เมื่อสมาชิกในชุมชนได้เห็นถึงการพัฒนาที่เกิดผลอย่างชัดเจนต่อบุตรหลาน เห็นความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเยาวชน ปัจจุบันจึงไว้วางใจคริสตจักรและให้ความร่วมมือกับงานของคริสตจักรเป็นอย่างดี
อาจารย์สมศักดิ์เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของคริสตจักรและการทำพันธกิจพัฒนาเด็กแบบองค์รวมกับคอมแพสชั่นว่า ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นคริสตจักรในเครือข่ายของกะเหรี่ยงแบ๊บติสต์จะต้องผ่านการเป็นจุดประกาศมาก่อน เริ่มแรกมีสมาชิกประมาณ 40 ครอบครัว ในเวลานั้นมีหลายคริสตจักรในเครือเป็นคู่มิตรกับคอมแพสชั่นอยู่แล้วร่วมกับสถานการณ์ที่มีเด็กจำนวนมากในชุมชนต้องการความช่วยเหลือเพราะขาดแคลนหลายสิ่งในการดำเนินชีวิตอันเนื่องมาจากความห่างไกลของหมู่บ้านกับตัวเมืองซึ่งการเดินทางสัญจรค่อนข้างลำบาก ทำให้คริสตจักรสนใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อคริสตจักรจะสามารถให้การช่วยเหลือเด็กที่ยากจนในชุมชนได้มากขึ้น
ผลจากการทำพันธกิจเด็กและเยาวชนแบบองค์รวม
ในครั้งแรกมีเด็กเข้าร่วมโครงการจำนวน 13 คนโดยเป็นการลงทะเบียนเข้าร่วมกับคริสตจักรธารน้ำทิพย์ซึ่งเป็นศูนย์รวมของหลายคริสตจักร กระทั่งประมาณปี พ.ศ.2537 คริสตจักรห้วยน้ำขาวจึงแยกออกมารับผิดชอบโครงการเองเป็นเอกเทศ ปัจจุบันมีเด็ก 430 กว่าคน อาจารย์สมศักดิ์กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดโครงการมาถึงปัจจุบันน่าจะมีจำนวนเด็กกว่าพันคน โดยมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ย้ายไปเรียนต่อต่างอำเภอจึงโอนย้ายชื่อไปโครงการอื่น มีศิษย์เก่าที่จบจากโครงการประมาณ 100 กว่าคนที่ติดตามได้ มีทั้งที่ทำงานรับใช้พระเจ้าในคริสตจักร องค์กรคริสเตียน เป็นข้าราชการ และทำธุรกิจส่วนตัว ได้แก่ เป็นศิษยาภิบาล 4 คน เป็นผู้ปกครอง 7 คน ทำงานรับใช้ต่างๆ และเป็นผู้ดูแลหอพัก 20 คน กลับมาทำงานในโครงการ 5 คน รับราชการครู 36 คน พยาบาล 5 คน ตำรวจ 1 คน ทำงานในองค์กรคริสเตียน 15 คน ทำงานในหน่วยงานราชการ เช่น อบต. 7 คน ทหาร 5 คน และทำธุรกิจส่วนตัว มีร้านค้าของตนเอง 15 คน คริสตจักรมีชมรมศิษย์เก่าของโครงการ ทำให้เยาวชนที่จบจากโครงการเหล่านี้มักจะกลับมามีส่วนร่วมในงานรับใช้อยู่เสมอ แม้จะประกอบอาชีพอื่นเป็นหลักก็ยังมีส่วนร่วมในการถวายและกลับมานมัสการร่วมกับน้อง ๆ ในโครงการอยู่เป็นประจำขอบคุณพระเจ้าที่คริสตจักรได้เห็นว่าพวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น สำเร็จการศึกษาตามความมุ่งหมาย มีความรู้ความสามารถมีวิชาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ สามารถดูแลครอบครัวของตนได้ ประกอบอาชีพสุจริต มีคุณธรรมและจริยธรรม และมีส่วนร่วมในชุมชนคริสเตียน
การเตรียมความพร้อมในการทำพันธกิจด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน
เป็นเวลากว่า 20 ปีของการทำพันธกิจพัฒนาเด็กแบบองค์รวมร่วมกับคอมแพสชั่น ทำให้คริสตจักรห้วยน้ำขาวได้มีโอกาสฝึกอบรมความรู้และทักษะต่าง ๆ ในการทำพันธกิจเด็กแบบองค์รวม และมีแนวทางการในเตรียมความพร้อมเพื่อการทำพันธกิจด้วยตนเองอย่างยั่งยืนในหลายๆ ด้าน ได้แก่
- ด้านบุคลากร : เตรียมพร้อมในการพัฒนาให้เจ้าหน้าที่ในแต่ละส่วนมีความรู้ความสามารถมากขึ้นด้วยการอบรมและส่งเสริมให้พวกเขาพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ซึ่งบุคลากรทุกคนยังมุ่งมั่นตั้งใจจะทำงานในพันธกิจพัฒนาเด็กแบบองค์รวมนี้ต่อไป
- ด้านการยังชีพ : คริสตจักรเตรียมส่วนนี้ควบคู่ไปกับกิจกรรมพัฒนาอาชีพของเยาวชน มีทั้งการสร้างรายได้และการถวายทรัพย์ โดยจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งในส่วนการทำพันธกิจเด็กและเยาวชนต่อไป และเพื่อความยั่งยืนในชีวิตของเยาวชนแต่ละคนเองด้วย ได้แก่ ชมรมเบเกอรี่, ชมรมทอผ้า, การจัดอบรมมีเดีย, บริการถ่ายเอกสาร, ชมรมศิษย์เก่า, มีกิจการสหกรณ์ร้านค้า ปัจจุบันมีสมาชิก 70 กว่าคน, กลุ่มออมทรัพย์ จัดทำในนามของคริสตจักรเอง ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรหรือหน่วยงานอื่น ๆ ปัจจุบันมีสมาชิก 130-150 คน, พันธกิจหอพัก เริ่มทำตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 โดยมีจุดมุ่งหมายในการเป็นพันธกิจประกาศกับกลุ่มเด็กและเยาวชนจากชุมชนอื่นที่ไม่มีโรงเรียนได้ย้ายเข้ามาอาศัยเพื่อศึกษาต่อในโรงเรียนระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมปลาย มีการเก็บค่าใช้จ่ายในการเข้าพักเพื่อเป็นค่าบำรุง ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเด็กในหอพัก 2 ครอบครัว กับ 1 คน มีเด็กที่พักอาศัยอยู่ประมาณ 80 คน
- ด้านอาคารสถานที่ : ปัจจุบันมีอาคารโบสถ์ สำนักงาน หอประชุม และหอพัก ซึ่งนับว่ามีความพร้อมเพียงพออยู่แล้ว
- ด้านเครือข่ายและความร่วมมือ : ได้รับการเกื้อหนุนจากคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์, พี่น้องคริสเตียนจากญี่ปุ่น และพี่น้องบางส่วนในคริสตจักร
- ด้านการออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสม : ปัจจุบันเน้นการพัฒนาอาชีพและการสร้างสาวกมากขึ้น ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้สอดคล้องกับช่วงอายุของเยาวชนที่โตขึ้น
ในอนาคตคริสตจักรก็จะมุ่งเน้นทำพันธกิจพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้ความสำคัญกับการดูแลเด็กเป็นรายบุคคลเช่นเคย ซึ่งแนวทางเตรียมความพร้อมของคริสตจักรดังกล่าว ได้สะท้อนความเป็นเจ้าของพันธกิจ และบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในการทำพันธกิจเด็กและเยาวชนตามบริบทของคริสตจักรให้เกิดความยั่งยืน
นอกจากการเตรียมความพร้อมด้านการยังชีพที่โดดเด่นมาก ๆ แล้ว อาจารย์สันติสุขยังกล่าวถึงด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกว่า
ในด้านบุคลากร ทุกคนยังมีภาระใจในการทำพันธกิจสำหรับเด็กและเยาวชนต่อไป โดยมีเจ้าหน้าที่บางส่วนหารายได้จากการทำธุรกิจส่วนตัว และอีกส่วนมาร่วมทำงานในกิจการของพันธกิจเตรียมความพร้อมด้านการยังชีพตามที่คริสตจักรจัดสรรให้
ส่วนด้านอาคารสถานที่ นับว่าคริสตจักรค่อนข้างมีความพร้อมเพราะมีการดูแลบำรุงรักษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่ก่อนแล้ว ปัจจุบันมีโรงอาหารและห้องประชุม อีกทั้งได้รื้ออาคารโบสถ์หลังเดิมเพื่อสร้างโบสถ์ใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ด้านเครือข่ายและความร่วมมือ มีการร่วมมือกับหลายองค์กร ทั้งโรงเรียนในพื้นที่ที่ร่วมจัดกิจกรรมตามวันสำคัญต่าง ๆ , มูลนิธิโซเอที่มอบอาหารแห้งสำหรับเด็กที่ขาดแคลน , คริสตจักรสะพานเหลืองที่สนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็กที่อยากศึกษาต่อด้านพระคำภีร์ , ชมรมอ๊อฟโรดที่ร่วมระดมทุนในการสร้างอาคารสถานที่ , หน่วยงานของภาครัฐ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลที่จัดกิจกรรมให้เยาวชนร่วมกับคอยสนับสนุน “เยาวชนเข้มแข็ง” กลุ่มของเยาวชนในชุมชน และให้งบประมาณเพื่อช่วยเหลือพันธกิจส่งเสริมอาชีพ , มูลนิธิพระพรไทย (CBN) ที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในด้านการประกาศ , อนามัยท้องถิ่นที่สนับสนุนเรื่องยาและการตรวจสุขภาพ , หน่วยงานราชการในพื้นที่ที่ร่วมติดต่อประสานงานเพื่อการประกาศต่าง ๆ , กลุ่มศิษย์เก่าที่ร่วมระดมทุนถวายให้โครงการ และ ศูนย์ร้องเรียนสิทธิเด็กที่ให้ข้อมูลความรู้และมอบความช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเด็กเสมอมา
ส่วนสุดท้าย ด้านการออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับเยาวชน คริสตจักรได้นำเอาบทเรียนการสร้างสาวกของคริสตจักรระดับเขต ในเขตเบธเลเฮม (ประกอบด้วย 17 คริสตจักร 35 กิ่ง 30 กว่าหมวด) มาใช้ เนื่องจากผู้ปกครองบางคนไม่ใช่คริสเตียน และเพื่อเสริมสร้างเยาวชนคริสเตียนให้มีความเป็นผู้นำและมีความคิด โดยประกอบกับหลักสูตรพัฒนาเด็กแบบองค์รวม ซึ่งอาจารย์สันติสุขได้กล่าวเสริมว่า เด็กที่ได้รับการเสริมสร้างมาแล้วมักจะมีความเป็นห่วงและไม่ทอดทิ้งชุมชน สุดท้าย พวกเขาจะกลับมามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและคริสตจักรเสมอ
จากใจศิษยาภิบาล - อ.สมศักดิ์ คล่องกระโจนคีรี
ผมชื่อ สมศักดิ์ คล่องกระโจนคีรี เป็นศิษยาภิบาลของคริสตจักรห้วยน้ำขาวมาได้ 2 ปีแล้ว พอมองย้อนไปก็ต้องบอกเลยว่าตอนเด็ก ๆ ผมไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่ ผมจึงอยากเป็นพยานถึงการทรงเรียกและพระคุณของพระเจ้าที่นำให้ผมเป็นอย่างทุกวันนี้ได้
ครอบครัวของผมเป็นคริสเตียน เข้านมัสการเป็นประจำที่คริสตจักรบ้านบนนา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ได้รับการเสริมสร้างตามประสาอนุชนในคริสตจักร ผมตัดสินใจรับเชื่อในค่ายอนุชนเมื่ออายุได้ 17 ปี และรับบัพติศมาทันทีหลังกลับมาจากค่ายนั้น ตั้งแต่นั้นมาผมก็มุ่งมั่นตั้งใจจะทำงานรับใช้พระเจ้า จำได้ว่ามีส่วนในการเริ่มรับใช้อย่างจริงจังตอนอายุ 19 ปี โดยการเป็นผู้ประกาศ จากนั้นก็พัฒนาตัวเองด้วยการไปเรียนต่อที่พระคริสตธรรมพะเยา เมื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มขึ้นแล้วจึงเริ่มทำงานรับใช้พระเจ้าเต็มเวลาด้วยการประกาศ ทำงานที่หอพักในตำแหน่งผู้ดูแลเด็กที่คริสตจักรห้วยน้ำขาว 10 ปี ก่อนจะมาเป็นผู้จัดการโครงการศูนย์พัฒนาเด็กคริสตจักรห้วยน้ำขาวอีก 10 ปี แล้วจึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศิษยาภิบาล กระทั่งเข้ารับตำแหน่งเป็นศิษยาภิบาล
ความภูมิใจในการรับใช้ของผมคือการที่ได้ทำงานกับเด็กในโครงการแล้วเห็นผลที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา ผลของการพัฒนาที่ทำให้พวกเขาจบออกไปแล้วมีชีวิตที่ดี มีหน้าที่การงานที่ดี มีครอบครัวที่ดี มีความเชื่อที่เข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมมีความสุขและภาคภูมิใจเสมอมา
พอมานึกดูแล้ว ความมุ่งมั่นตั้งใจในการรับใช้ของผมก็เปลี่ยนไปตามช่วงอายุ ช่วงที่ยังหนุ่มผมมีความสุขและมีเป้าหมายกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขามีการศึกษา มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ โดยสร้างเด็ก ๆ ให้เป็นสาวก มาถึงปัจจุบันในช่วงอายุที่มากขึ้นและบริบทที่เปลี่ยนแปลง ภาระใจในตอนนี้คือ การทำหน้าที่ศิษยาภิบาลประจำคริสตจักร โดยดูแลเสริมสร้างสมาชิกให้เข้มแข็งและคอยเยี่ยมเยียนหนุนใจ
จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คริสตจักรมีอุปสรรคและปัญหาในการทำงานเยอะมาก ผมจึงมองว่าทิศทางและอนาคตของคริสตจักรห้วยน้ำขาวจะต้องอาศัยความเข้มแข็งในการทำงานเป็นทีมมากทีเดียว พันธกิจจะเกิดผลมากขึ้นเมื่อทุกฝ่ายร่วมกันทำงานรับใช้อย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันเราก็คอยดูแลเสริมสร้างกันและกันในแต่ละส่วนอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องทำต่อไปเรื่อย ๆ รวมถึงส่วนตัวของบุคลากรเจ้าหน้าที่แต่ละคนเองก็จำเป็นต้องพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหมือนกัน
ส่วนทิศทางในอนาคตของตัวผมก็ขึ้นอยู่กับการทรงนำของพระเจ้าแล้วว่า พระองค์จะทรงนำไปถึงเมื่อไหร่ แต่ถ้ากล่าวตามความสมัครใจของตัวเองก็คือ “ผมอยากรับใช้ไปจนถึงวันที่พระเจ้าจะรับไปเลยครับ”
นอกจากนี้ยังมีคำพยานชีวิตของศิษย์เก่า 3 คนที่แบ่งปันถึงสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการที่ส่งผลต่อการตัดสินใจและนำมาสู่ชีวิตที่ปัจจุบัน อ่านต่อในคอลัมน์ “ศิษย์เก่ากับชีวิตที่เป็นแบบอย่าง”