เยาวชนกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โครงการพัฒนาเด็กคริสตจักรแบ๊บติสต์ลาหู่บ้านปางมะหัน
ชุมชนบ้านปางมะหันตั้งอยู่ในตำบลเทอดไท อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนเกษตรกรที่ประกอบด้วยกลุ่มชนเผ่าหลากชาติพันธุ์ บริเวณถิ่นอาศัยรายล้อมด้วยธรรมชาติป่าเขา เมื่อทำการเกษตรโดยใช้สารเคมีจึงทำให้สิ่งแวดล้อมต้นน้ำถูกทำลาย แหล่งน้ำปนเปื้อนด้วยสารเคมีและขยะ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนในชุมชนและเกิดมลภาวะที่ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อม
คริสตจักรแบ๊บติสต์ลาหู่บ้านปางมะหันเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงวางแผนจัดกิจกรรมโดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างความตระหนักและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เช่น สวนปักกสิกรรมธรรมชาติ, สวนครัวหลังบ้าน, ปลูกสมุนไพรใช้รักษาโรค และเรียนรู้การจัดการขยะอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกิจกรรมเข้ากับปัญหาเศรษฐกิจชุมชนด้วยการส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับเยาวชน ผู้ปกครอง และชาวบ้านในชุมชน เพื่อให้พวกเขานำไปต่อยอดพัฒนาเป็นทั้งรายได้หลักและรายได้เสริม เช่น ฟาร์มผึ้งอารมณ์ดี และการสร้างผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรในชุมชนเพื่อใช้ในครัวเรือนและจำหน่าย ทำให้ทั้งสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนโดยคนในชุมชนเองเป็นผู้ร่วมพัฒนา
นายเจียรศักดิ์ จะลอ ผู้จัดการโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนแบบองค์รวมประจำคริสตจักรแบ๊บติสท์ลาหู่บ้านปางมะหันกล่าวถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมที่ผ่านมาไว้ว่า “กิจกรรมที่เกิดขึ้นทำให้ชุมชนนี้มีการจัดการขยะที่ยั่งยืนด้วยการนำเตาเผาขยะชีวมวลมาใช้ คริสตจักรเองก็ได้เรียนรู้การกำจัดขยะอย่างถูกวิธี บริเวณโบสถ์และลำห้วยก็สะอาด ปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ที่ประทับใจคือการปลูกสมุนไพรที่ต่อยอดมาเป็นการทำน้ำมันนวด ทั้งใช้เองและนำไปขาย นอกจากปลอดภัยแล้วยังสร้างรายได้อีกด้วย”
นางสาววนิดา แซ่ลี เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมอาชีพกล่าวถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาไว้ว่า “หนูได้ใช้สมุนไพรที่ปลูกเองมาทำสบู่ใช้ ปลอดภัยทั้งสุขภาพของตัวเองแล้วยังปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อมด้วย บางส่วนแบ่งไว้ใช้ บางส่วนแบ่งไว้ขาย เหมือนเป็นการสร้างรายได้และดูแลป่าไปพร้อมๆ กัน”
กิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาเด็กคริสตจักรแบ๊บติสต์ลาหู่บ้านปางมะหัน
- กิจกรรมส่งเสริมอาชีพเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม (พันธกิจเยาวชน)
- ฟาร์มน้ำผึ้งอารมณ์ดี : สร้างบ้านผึ้งด้วยสิ่งแวดล้อมที่ปลอดสารเคมี
- สวนผักกสิกรรมธรรมชาติ : จัดการดิน น้ำ ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ โดยเน้นความสมดุลของระบบนิเวศเลียนแบบธรรมชาติ
- ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม : สร้างผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนเพื่อจำหน่าย เช่น สบู่ธรรมชาติพันปี, น้ำพริกข่าป่า, ลูกอมขิง, ขิงฉาบ, กล้วยฉาบหม่าล่า, คอมบูฉะชาพันปี, หมอนใบชาพันปี เป็นต้น
- กิจกรรมครอบครัวพอเพียง (พันธกิจครอบครัว)
- สวนครัวหลังบ้าน : ปลูกผักปลอดสารพิษตามหลักกสิกรรมธรรมชาติในครัวเรือน
- ยาสมุนไพรสามัญประจำบ้าน : ปลูกสมุนไพรในครัวเรือนเพื่อนำมาใช้เป็นยารักษาโรค
- จัดการขยะอย่างยั่งยืน : จัดการขยะด้วยการคัดแยกขยะ รณรงค์ และใช้เตาเผาขยะชีวมวลที่สร้างโดยชาวบ้านในการกำจัดขยะ (เริ่มทำกิจกรรมจากแกนนำ 12 ครัวเรือนก่อน)
ที่มาปัญหา
คนในชุมชนส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกร ทำให้สิ่งแวดล้อมต้นน้ำถูกบุกรุกผ่านการเพาะปลูกที่ใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก แหล่งน้ำจึงปนเปื้อนด้วยสารเคมีและขยะ ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจในชุมชนที่แต่ละครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการพื้นฐาน กลายเป็นค่านิยมของชุมชนที่ส่งเสริมให้เยาวชนย้ายถิ่นฐานไปทำงานต่างประเทศเพื่อหารายได้ให้มากขึ้น
จุดประสงค์
- เพื่อปลูกฝังความตระหนักในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ และป่า
- เพื่อฟื้นฟูหน้าดิน และสิ่งแวดล้อมต้นน้ำที่ถูกทำลายจากสารเคมีและขยะ
- เพื่อจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
- เพื่อยกระดับสถานการณ์เศรษฐกิจในชุมชน
- เพื่อสร้างอาชีพให้เยาวชน ผู้ปกครอง และคนในชุมชน บนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรชุมชนอย่างรู้คุณค่า
- เพื่อให้ชุมชนสามารถสร้างแหล่งอาหารที่เพียงพอต่อการบริโภคเองได้
- เพื่อส่งเสริมใช้คนในชุมชนงดใช้สารเคมีทำการเกษตร
การดำเนินงาน
เริ่มวางแผนงานใน พ.ศ.2564 และปฏิบัติตามจนถึงกระบวนการพัฒนาตามขั้นตอนการสร้างภาคีเครือข่ายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2565 กระทั่งดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
- กรรมการ ผู้นำ และบุคลากรคริสตจักรร่วมประชุมเพื่อทบทวนนิมิตและพันธกิจคริสตจักร แล้วจึงกำหนดเป้าหมายกิจกรรมและตารางแผนงานตามลำดับขั้นตอน
- จัดการอบรมปฏิบัติการและศึกษาดูงาน โดยให้เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมแบ่งกลุ่มตามอาชีพหรือกิจกรรมที่สนใจ
- สร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรม เช่น โรงเรียนปางมะหัน, องค์การบริหารส่วนตำบลเทอดไทย, โครงการชาน้ำมัน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง, บริษัทเอกชน และร้านค้าต่างๆ เป็นต้น
- ปฏิบัติตามแผนงานและทำการตลาดร่วมกับภาคีเครือข่าย
- ถอดบทเรียนเพื่อวางแผนการดำเนินงานในครั้งต่อไป
ผลที่เกิดขึ้น
- เกิดกลุ่มอาชีพที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรในชุมชนโดยเชื่อมโยงไปสู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพื้นที่บริเวณป่าต้นน้ำ
- เกิดกระบวนการจัดการขยะที่ยั่งยืนในครอบครัว คริสตจักร และชุมชน
- เกิดเครือข่ายภาคีความร่วมมือที่พร้อมให้การสนับสนุนในกิจกรรมต่างๆ
ผู้มีส่วนร่วม
- เด็กและเยาวชนในโครงการ
- ผู้ปกครอง
- บุคลากรและนักเรียนของโรงเรียนบ้านปางมะหัน
- ชาวบ้านในชุมชน
- องค์การบริหารส่วนตำบลเทอดไทย
- โครงการชาน้ำมัน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
- ต้นสังกัดคริสตจักร
- บริษัทเอกชน
- หน่วยงานทหารมวลชนสัมพันธ์
จำนวนผู้ร่วมทำกิจกรรม
ตลอดกระบวนการดำเนินงานตามข้อ 3) และข้อ 7) มีจำนวนกว่า 100 คน
ขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์
นายเจียรศักดิ์ จะลอ ผู้จัดการโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนแบบองค์รวมประจำคริสตจักรแบ๊บติสท์ลาหู่บ้านปางมะหัน