คริสตจักรไมตรีจิตสว่างแดนดิน ตั้งอยู่ที่ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร สังกัดสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1997 แรกเริ่มมีผู้เชื่อเข้าร่วมนมัสการ 2 ครอบครัว จำนวน 10 คน มีเด็กรวมอยู่ด้วยจำนวน 3-4 คน สภาพชุมชนเป็นลักษณะเมืองขนาดกลางกึ่งชนบท ทำให้สมาชิกในชุมชนประกอบอาชีพที่หลากหลาย เช่น รับราชการ , ค้าขาย , รับจ้าง เป็นต้น แต่โดยส่วนมากจะยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก ซึ่งความเป็นพื้นที่แล้งและขาดแคลนน้ำในบางฤดูกาลทำให้เมื่อพ้นฤดูเก็บเกี่ยวจึงมักประกอบอาชีพอื่นร่วมด้วยหรือย้ายถิ่นฐานในระยะสั้นเพื่อไปทำงานตามจังหวัดใหญ่ที่มีการจ้างแรงงานจำนวนมาก จำนวนสมาชิกในแต่ละปีจึงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
หลังบุกเบิกคริสตจักรได้ระยะหนึ่ง อ.ลัดดา สุรินทร์ ศิษยาภิบาลผู้ย้ายมาประจำการก็สังเกตเห็นปัญหาการเรียนของเด็ก ๆ ในชุมชนจึงช่วยสอนหนังสือเพิ่มเติมตามวิชาที่ด้อยของแต่ละคนร่วมกับการจัดชั้นเรียนเพื่อสอนพระคัมภีร์ จนกระทั่งได้เห็นตัวอย่างการร่วมเป็นคู่มิตรกับโครงการคอมแพสชั่นจากคริสตจักรแห่งหนึ่งในจังหวัดสุโขทัย และเกิดความสนใจในหลักสูตรการพัฒนาเด็กแบบองค์รวม เนื่องด้วยความตั้งใจที่อยากทำพันธกิจเพื่อพัฒนาเด็กอยู่แล้ว อ.ลัดดาจึงได้พูดคุยสอบถามและเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอเข้าร่วมโครงการกับคอมแพสชั่น และได้เปิดตัวเป็นคู่มิตรกับโครงการในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2003 แรกเริ่มมีเด็กและเยาวชนจำนวน 84 คน เจ้าหน้าที่เต็มเวลา 3 คน และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครจากกลุ่มอนุชนอีกจำนวน 7-8 คน
นับว่าเป็นองค์กรแรกที่เข้ามาทำงานกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่นี้ ทำให้ค่อนข้างเป็นจุดสนใจและกลายเป็นภาพจำจากเสื้อสีม่วงที่คริสตจักรทำขึ้นเองเพื่อแจกให้เด็ก ๆ สวมมาเรียนหลักสูตรการพัฒนาเด็กแบบองค์รวมทุกวันเสาร์ คนในชุมชนจึงรับรู้ว่ามีการสอนพิเศษและเปิดใจทำความรู้จักกับทั้งคริสตจักรและโครงการมากขึ้น ทำให้มีเด็กเข้าร่วมโครงการและมาร่วมกิจกรรมของโครงการมากขึ้นด้วย โดยมีชื่อเสียงที่ดีและเข้มแข็งในชุมชน ปัจจุบันคริสตจักรไมตรีจิตสว่างแดนดินมีสมาชิกประจำที่ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่รวมทั้งหมด 116 คน มีเด็กในโครงการจำนวน 183 คน
ผลจากการทำพันธกิจเด็กแบบองค์รวม
ตลอดระยะเวลา 18 ปี ที่คริสตจักรได้ร่วมเป็นคู่มิตรกับคอมแพสชั่นในการทำพันธกิจเด็กแบบองค์รวม ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งในตัวคริสตจักรเองและกับชุมชนโดยรอบ ซึ่งจำแนกออกเป็นด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ด้านการศึกษา เนื่องจากการสังเกตเด็กเป็นรายบุคคลจึงสามารถเสริมความรู้ในวิชาด้อยและทำให้เด็ก ๆ มีความรู้ความเข้าใจในบทเรียนมากขึ้น จนถึงปัจจุบันมีเยาวชนที่จบจากโครงการตามอายุสูงสุดประมาณ 40-50 คน ส่วนมากมีระดับการศึกษาที่เหมาะสมในใการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ โดยสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีและทำงานในหลากหลายอาชีพ เช่น ข้าราชการครู พยาบาล แพทย์แผนไทย พนักงานบริษัท ธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น
- ศิษย์เก่ามีความผูกพันและมีใจสนับสนุนพันธกิจต่อไป แม้จะจบจากโครงการไปแล้วแต่ศิษย์เก่าก็ยังนึกถึงและอุทิศตนติดตามพระคริสต์ด้วยการมีส่วนร่วมในการรับใช้พันธกิจอยู่เสมอ คนที่ย้ายถิ่นฐานเพื่อออกไปทำงานนอกพื้นที่มักจะกลับมาเยี่ยมเยียนคริสตจักรและโครงการทุกครั้งเมื่อมีโอกาสได้กลับบ้านเกิด อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในการถวาย ส่วนคนที่ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนมากยังคงเข้าร่วมกิจกรรมของคริสตจักรและช่วยรับใช้ตามความถนัด โดยมีคนนำอธิษฐานประจำอยู่ประมาณ 4 คน นำนมัสการ 4 คน เล่นดนตรีนมัสการ 6 คน มีคนช่วยสอนกิจกรรมให้เด็ก ๆ ในโครงการ 5 คน และมีอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยเตรียมการด้านอื่น ๆ เช่น ทำความสะอาด , ทำอาหาร , เตรียมสถานที่ในการนมัสการ เป็นต้น
- มีบุคลากรที่เพียงพอกับความต้องการ นอกจากเจ้าหน้าที่ประจำของโครงการ ยังมีอาสาสมัครที่เป็นศิษย์เก่าของโครงการและอาสาสมัครจากสมาชิกในคริสตจักรมาร่วมรับใช้ในการทำพันธกิจเด็กแบบองค์รวมอยู่เป็นประจำ จึงมีบุคลากรที่ได้รับการอบรมและมีทักษะในการทำพันธกิจเพียงพอกับความต้องการของจำนวนเด็ก ทำให้สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง
- ด้านการประกาศข่าวประเสริฐ มีเด็กและเยาวชนในชุมชนที่ได้มีโอกาสรู้จักพระเจ้าผ่านโครงการ ทั้งผู้ที่เป็นสมาชิก และผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงผู้ปกครองและคนในชุมชน ทำให้คริสตจักรมีสมาชิกประจำเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้สมาชิกและคนในชุมชนจะมีการย้ายถิ่นฐานอยู่เสมอ
- ด้านการพัฒนาส่งเสริมวิชาชีพ คริสตจักรทำพันธกิจนี้โดยมีหลักสูตรการพัฒนาเด็กองค์รวมเป็นหลักและเป็นฐานแกนกลางสำหรับการจัดกิจกรรม หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมวิชาชีพตามความสนใจของเด็ก ๆ แต่ละคนที่แตกต่างกันไป จึงมีการให้ความรู้และกิจกรรมหลายด้าน เช่น การทำขนม , ทำอาหาร , งานฝีมือ , ดนตรี , กีฬา เป็นต้น
- ด้านชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับในชุมชนและคริสตจักรข้างเคียง ถูกมองว่าเป็นองค์กรที่ทำงานกับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะและบูรณาการการทำพันธกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ คริสตจักรจึงได้รับการเชิญชวนจากผู้นำชุมชนและองค์กรต่าง ๆ ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ ผู้ปกครองของเด็กทั้งที่ยังอยู่ในโครงการหรือที่จบจากโครงการไปแล้วก็ยังแวะเวียนมาขอคำปรึกษาด้านการเลี้ยงลูก นอกจากนี้ยังให้คำปรึกษาในการทำพันธกิจเด็กและเยาวชนกับคริสตจักรในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย
การเตรียมพร้อมสู่ความยั่งยืนในการทำพันธกิจ
คริสตจักรเตรียมความพร้อมในการทำพันธกิจพัฒนาเด็กองค์รวมด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนในหลายส่วนมาเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตด้วยการเตรียมการดังต่อไปนี้
- การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร บุคลากรทุกคนที่ยังมีอยู่จะยึดมั่นในการทำพันธกิจเด็กและเยาวชนต่อไป โดยทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกว่า 90% มีอาชีพหลักในการหารายได้แล้ว เช่น เปิดร้านอาหาร , ทำการเกษตร , ครูเนอสเซอรี่ , ช่างซ่อม , รับจ้างทั่วไป เป็นต้น ปัจจุบันมีอาสาสมัครของพันธกิจที่เป็นเจ้าหน้าที่หลักในการรับผิดชอบดูแลเด็กประมาณ 12 คน
- ด้านการยังชีพ คริสตจักรมีพันธกิจเนอสเซอรี่ รับจ้างดูแลเด็ก โดยมีพี่น้องในคริสตจักรมาเป็นครูและพี่เลี้ยง เป็นการหารายได้เข้าคริสตจักรเพื่อใช้ในการทำพันธกิจพัฒนาเด็กองค์รวมต่อไป อีกทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพให้กับสมาชิกในคริสตจักรที่มาทำงานด้วย ซึ่งมีคริสตจักรต้นสังกัด (คริสตจักรไมตรีจิต) มาช่วยสนับสนุนในการสร้างอาคาร นอกจากนี้ยังมีร้านกาแฟของคริสตจักรและรับเอาขนมกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของสมาชิกในคริสตจักรและเด็กในโครงการมาวางขายเพื่อช่วยหารายได้เสริมให้พวกเขาด้วย
- ด้านอาคารสถานที่ เมื่อสมัยเริ่มทำพันธกิจกับโครงการ คริสตจักรยังไม่มีอาคารเป็นกิจลักษณะ แต่มีบ้านหลังหนึ่งที่มาพร้อมกับที่ดินตอนซื้อ เป็นบ้านสองชั้น ซึ่งจัดแบ่งชั้นบนให้เป็นที่พักของผู้รับใช้ ส่วนชั้นล่างใช้นมัสการและจัดกิจกรรมกับเด็ก ๆ จากนั้นจึงค่อยพัฒนามาทีละส่วน เริ่มจากสร้างศาลาอเนกประสงค์ และอาคารนมัสการ ปัจจุบันใช้ทั้งอาคารนมัสการและอาคารเนอสเซอรี่ที่มีหลายห้องในการจัดกิจกรรมของเด็ก ๆ ในโครงการ พื้นที่รวมทั้งหมด 5-6 ห้องในตอนนี้กำลังเพียงพอ มีห้องน้ำรวมทั้งหมด 8 ห้อง และมีอาคารสำหรับเตรียมอาหารแยกต่างหากอีก 1 อาคาร
- ด้านเครือข่ายและความร่วมมือ คริสตจักรได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากผู้นำชุมชน , บริษัทและห้างร้านในชุมชน รวมถึงบุคคลผู้มีอิทธิพลทั้งในท้องถิ่นและนอกพื้นที่ที่คอยช่วยสนับสนุนด้านงบประมาณและสิ่งของในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ส่วนโรงพยาบาลและเทศบาล มักจะมีการร่วมมือเป็นครั้งคราวตามกิจกรรมที่หน่วยวงานจัดขึ้นในโอกาสพิเศษ เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี , กิจกรรมวันเด็ก , งานเยาวชนในชุมชน เป็นต้น ซึ่งในอนาคตมีแผนงานจะติดต่อกับหน่วยงานราชการเพื่อของบประมาณและการสนับสนุนทางด้านอื่น ๆ จากภาครัฐ
- ด้านการออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสม ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้คริสตจักรต้องเปลี่ยนรูปแบบจัดกิจกรรม จากการรวมตัวที่คริสตจักรมาเป็นการให้บุคลากรเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครไปเยี่ยมเยียนตามบ้าน โดยสอนตามหลักสูตรที่คอมแพสชั่นจัดไว้ให้เป็นหลัก หากสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นจะมีกลับมารวมตัวเพื่อทำกิจกรรมอีกครั้งตามความสนใจของเด็กแต่ละคน ซึ่งออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ จากหลักสูตรการพัฒนาองค์รวมเป็นแกนกลางอย่างที่เคยทำ
จากใจศิษยาภิบาล - อาจารย์ ลัดดา สุรินทร์
อ.ลัดดา เกิดในครอบครัวที่ไม่ได้เป็นคริสเตียน มีโอกาสได้รู้จักกับพระเจ้าเมื่ออายุประมาณ 7-8 ปี จากการเข้าร่วมกิจกรรมของคริสตจักร แต่หลังจากนั้นก็โดนครอบครัวห้ามเข้าร่วม จึงไม่ได้ไปคริสตจักรอีกเลย จนอายุได้ 15 ปี เมื่อประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่และกำลังจะเข้าผ่าตัด ขณะนั้นอาจารย์นึกถึงภาพในวัยเด็กที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมของคริสตจักรที่มาพร้อมกับคำว่า “พระเจ้ายิ่งใหญ่ พระเจ้าช่วยได้” ตอนนั้นจึงอธิษฐานไปว่า หากพระเจ้ามีจริงขอให้ตนรอดชีวิตและจะกลับไปร่วมกิจกรรมที่คริสตจักรอีกครั้ง ภายหลังเมื่อหายดีจึงกลับไปเรียนรู้เรื่องราวของพระเจ้าจนกระทั่งรับเชื่อตอนอายุ 17 ปี ที่คริสตจักรไมตรีจิต อ.แม่สาย จ.เชียงราย ต่อมาจึงตัดสินใจเข้าเรียนพระคริสตธรรมพะเยาเพื่อจะเติบโตในความเชื่อและมีเป้าหมายจะทำงานรับใช้ โดยช่วงเวลาที่เพิ่งเรียนจบจากพระคริสตธรรมในปี ค.ศ.1999 อาจารย์ได้แต่งงานและกำลังแสวงหาพื้นที่ที่จะไปรับใช้พระเจ้าร่วมกับสามี พอดีกับการได้รับคำเชิญชวนจากคริสตจักรไมตรีจิตให้มารับใช้ที่คริสตจักรไมตรีจิตสว่างแดนดิน เนื่องจากสถานการณ์คริสตจักรในตอนนั้นคือเพิ่งเปิดได้ไม่นานและกำลังเข้าสู่ยุคของผู้ดูแลรุ่นที่สามแต่ขาดคนที่จะมาสืบทอดดูแล ซึ่งหากยังหาไม่ได้ในเร็ว ๆ นี้ คริสตจักรก็อาจต้องปิดตัวลง เมื่อได้ยินดังนั้นจึงอธิษฐานและปรึกษากับสามีก่อนจะตัดสินใจย้ายมาทันทีเพราะคิดว่าเป็นพื้นที่ที่ประเจ้านำให้มารับใช้
นอกจากนี้ อาจารย์ยังคิดว่าการทำพันธกิจเด็กและเยาวชนคือนิมิตที่พระเจ้าเรียกให้ทำ ย้อนความไปตอนมาประจำการใหม่ ๆ อาจารย์พบเห็นเด็กที่มาวิ่งเล่นแถวนั้นและได้เข้าไปทำความรู้จัก ระหว่างการพูดคุยกันนั้นเองที่เห็นปัญหาว่าเด็ก ๆ หลายคนสะกดคำไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ออก ทั้งที่เรียนอยู่ ป.3 ซึ่งเป็นวัยที่ควรจะอ่านออกเขียนได้มานานแล้ว จึงเริ่มช่วยเหลือด้วยการสอนพิเศษที่คริสตจักร และกลุ่มคนแรก ๆ ที่เข้ามารับเชื่อในตอนนั้นก็คือเยาวชน กลายเป็นความชัดเจนที่พระเจ้าได้เปิดทางเลยให้คุณค่าความสำคัญกับการมุ่งมั่นทำพันธกิจเด็กและเยาวชนมาตลอดจวบจนได้เข้าร่วมเป็นคู่มิตรกับคอมแพสชั่น ที่คอยให้ความช่วยเหลือด้านหลักสูตรการพัฒนาเด็กองค์รวมมาถึงวันนี้
หนึ่งในความภูมิใจอย่างแรกของอาจารย์คือการที่ได้รับการยอมรับจากคริสตจักรในโซนใกล้เคียง โดยเป็นที่ปรึกษาในการทำพันธกิจเด็กและเยาวชน เอื้อโอกาสให้คริสตจักรได้เปิดใจทำความรู้จักและหนุนใจให้เข้าร่วมพันธกิจกับคอมแพสชั่น จนทุกวันนี้หลายที่ก็ยังทำพันธกิจนี้อยู่และยังมุ่งมั่นจะทำต่อไป อีกอย่างคือ การประกาศข่าวประเสริฐให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้รู้จักพระเจ้า อย่างน้อยมี 5 ครอบครัว ที่ทั้งครอบครัวมารับเชื่อและเป็นสมาชิกประจำของคริสตจักร และมีเด็กที่ลงทะเบียนกับโครงการมารับเชื่อ 25 คน จนทุกวันนี้ถึงจะจบจากโครงการไปแล้วความสัมพันธ์ก็ยังคงอยู่และแน่นแฟ้น คนที่อยู่ในพื้นที่ยังมาช่วยรับใช้เสมอ ส่วนคนที่ไม่อยู่ก็ช่วยสนับสนุนด้านอื่น ๆ ในการทำพันธกิจนี้ต่อไป ซึ่งการที่มีคนรุ่นใหม่มาสืบทอดงานรับใช้ด้านต่าง ๆ คือเรื่องที่อาจารย์ยังขอบคุณพระเจ้าอยู่เสมอ
ปัจจุบันมีศิษย์เก่าประมาณ 5 คนที่กลับมารับใช้พันธกิจเด็กและเยาวชนเป็นประจำ และมีอนุชนรุ่นใหม่ที่ยังช่วยทำงานนี้อยู่ ซึ่งอีกไม่นานจะขึ้นมานำในการรับใช้เป็นรุ่นถัดไปอีกประมาณ 5 คน รวมตอนนี้เป็น 10 คน ที่มีใจอยากสืบทอดพันธกิจนี้ต่อ
ในอนาคตมองว่าทิศทางของคริสตจักรว่า จะต้องเป็นเกลือและแสงสว่างต่อไป งานหลักคือการประกาศและขยายแผ่นดินของพระเจ้าตามความถนัด ซึ่งตัวอาจารย์เองมองว่า พันธกิจเด็กและเยาวชนคือหนึ่งในความถนัดของคริสตจักรที่มีการเตรียมความพร้อมมาแล้วในหลายด้าน และพร้อมจะทำต่อโดยเยาวชนรุ่นต่อไป อีกทั้งยังหวังในระยะยาวว่าจะขยายอาณาจักรของพระเจ้าด้วยการสร้างคริสตจักรลูกเพิ่มขึ้นจากสมาชิกที่มีอยู่และให้สมาชิกเยาวชนของคริสตจักรที่มีความพร้อมมาเป็นแกนนำในการรับใช้และประกาศเรื่องของพระเจ้า
ดังเช่นตัวอย่างของอดีตเยาวชนที่จบจากโครงการไปและแม้เขาจะมีอาชีพการงานของตนเอง แต่ยังมารับใช้อยู่เสมอไม่ขาด มันทำให้อาจารย์มองเห็นผลงอกงามที่เกิดขึ้นว่า มีเด็ก ๆ อีกหลายคนที่กำลังเดินตามมา และเมื่อโตขึ้นพวกเขาจะกลายเป็นรุ่นต่อไปที่ใช้ชีวิตด้วยการเดินตามพระเจ้าและสืบทอดงานของคริสตจักรต่อไป
ศิษย์เก่า - รมิดา ศรีเหรา
รมิดา ศรีเหรา หรือ แยม เติบโตในครอบครัวใหญ่ที่ประกอบด้วย ปู่, ย่า, พ่อ, แม่เลี้ยง และน้องสาวอีก 2 คน เธอเริ่มเข้ามาเป็นสมาชิกในโครงการคอมแพสชั่นที่คริสตจักรไมตรีจิตสว่างแดนดินตั้งแต่อายุได้เพียง 4 ปี จากการชักชวนของเจ้าหน้าที่ในคริสตจักรในช่วงเริ่มต้นเปิดโครงการใหม่ ๆ และตัดสินใจรับเชื่อในค่ายอนุชนที่คริสตจักรจัดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2555 ด้วยความที่ได้ซึมซับความจริงตามพระคัมภีร์จากโครงการจนเกิดความเชื่อและอยากมีพระเจ้าอยู่ในชีวิต เธอจึงตอบรับทันทีหลังอาจารย์เปิดโอกาสให้ยกมือรับเชื่อหลังการนมัสการ และมีความตั้งใจอยากให้ครอบครัวของตัวเองได้รู้จักพระเจ้าเช่นเดียวกัน
ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการ แยมเล่าว่าได้รับโอกาสมากมายในด้านการเรียนรู้ที่ทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้นและได้ค้นพบความชอบหลายอย่างที่นำมาสู่การเป็นตัวเองอย่างทุกวันนี้ ทั้งความใฝ่ฝันในด้านอาชีพ และความสามารถอื่น ๆ ที่นำมาสู่การรับใช้ เช่น สอนรวีเด็ก, นำนมัสการ เป็นต้น อีกหนึ่งโอกาสที่สำคัญสำหรับเธอคือ การได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่โครงการและพี่น้องคริสเตียน ทำให้รู้สึกเหมือนมีบ้านแสนอบอุ่นที่พร้อมจะต้อนรับเสมอ นอกจากนี้ยังมีหลายคนเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตที่เธอนำมาประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ
แยมจบปริญญาตรี เอกการบัญชี จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีระดับการศึกษาที่เหมาะสมตามสถานการณ์ในชีวิตและเลี้ยงดูตัวเองได้ด้วยการเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานฝ่ายบัญชีที่บริษัท ไพโอเนียร์ แอร์คาร์โก้ จำกัด ซึ่งต้องย้ายถิ่นฐานไปที่กรุงเทพมหานครเมื่อไม่นานมานี้ แต่ถึงอย่างนั้น แยมก็ยังมีใจจะมีส่วนร่วมในการรับใช้โดยนำความรู้ที่มีกลับมาสอนเด็ก ๆ ต่อไปในอนาคต อีกทั้งมีแผนจะช่วยเหลือในการถวายให้กับกองทุนการศึกษาของคริสตจักรอีกด้วย
ศิษย์เก่า - ภัคตกานต์ มีไพทูล
ภัคตกานต์ มีไพทูล หรือ แอ๋ว เข้ามาเป็นเด็กที่ลงทะเบียนกับโครงการคอมแพสชั่นตั้งแต่อายุได้ 9 ปี จากการชักชวนมาร่วมกิจกรรมของเพื่อนที่เป็นสมาชิกอยู่ก่อน ซึ่งที่แห่งนี้เองที่ทำให้เธอได้พบกับพระเจ้า และรับเชื่อเมื่อเรียนอยู่ประมาณช่วงชั้น ป.4 ระหว่างการทำกิจกรรมของโครงการ ตั้งแต่นั้นมาก็ได้ทำความรู้จักกับพระเจ้ามากขึ้นและเติบโตในพระคริสต์ด้วยการเข้านมัสการที่คริสตจักรเด็กและมีส่วนร่วมในการช่วยรับใช้อย่างสม่ำเสมอ
แอ๋วเล่าถึงชีวิตในโครงการว่า เธอได้รับประสบการณ์ที่น่าประทับใจและโอกาสในการเรียนรู้มากมาย ทั้งการเรียนพระคัมภีร์ การเรียนรู้หลักสูตรการพัฒนาแบบองค์รวมจากคอมแพสชั่น การเรียนดนตรีที่ทำให้เธอชื่นชอบการเล่นคีย์บอร์ดจนประกวดแข่งดนตรีได้รับรางวัลชนะเลิศมา การเรียนรู้ทางด้านอาชีพที่ทำให้เธอสนุกกับการทำขนมและทำอาหาร นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ทักษะการเข้าสังคมผ่านการเข้าค่าย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เธอได้รู้จักกับเพื่อน ๆ ต่างโครงการและมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน รวมทั้งส่วนสำคัญของชีวิตในโครงการที่ทำให้เธอกลายเป็นตัวเองอย่างทุกวันนี้ได้คือการมี อ.ลัดดา สุรินทร์ ผู้เป็นศิษยาภิบาลประจำคริสตจักรไมตรีจิตสว่างแดนดิน เป็นต้นแบบในการใช้ชีวิต ด้วยความใกล้ชิดที่เกิดขึ้นในวัยเด็กจวบจนปัจจุบันทำให้เธอเห็นชีวิตที่ติดตามพระเจ้าและทำงานรับใช้อยู่เสมอ ซึ่งจุดประกายให้เธออยากดูแลและสอนเด็ก ๆ เช่นเดียวกัน
สิ่งที่แอ๋วมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตคือ การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ความตั้งใจเดิมคือการเรียนครู สาขาภาษาอังกฤษ จึงเลือกไปเป็นอันดับแรก แต่ผลออกมาคือเธอสอบติดอันดับที่สอง นั่นก็คือสาขาปฐมวัยแทน พอเรียนไปทำให้เธอค้นพบและเข้าใจตัวเองว่า ตัวเองชื่นชอบการสอนเด็กเล็ก กระทั่งเมื่อเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร คณะครุศาสตร์ สาขาการศึกษาปฐมวัย เธอก็ตัดสินใจสอบบรรจุและรับราชการครู สอนเด็ก ๆ ช่วงชั้นอนุบาลที่โรงเรียนบ้านโนนเรือตอเรือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร อย่างที่เป็นอาชีพหลักของเธอในปัจจุบัน
นอกจากอาชีพหลักแล้ว แอ๋วยังใช้เวลาในงานรับใช้หลายอย่าง มีส่วนในการฟูมฟักเลี้ยงดูชุมชนคริสเตียนทั้งในการนำนมัสการ สอนรวีเด็ก ๆ ที่คริสตจักร พร้อมกับดำรงตำแห่งประธานของพันธกิจกองทุนเพื่อการศึกษาและได้รับเลือกให้เป็นมัคนายกประจำคริสตจักร เธอมองเห็นการจัดเตรียมของพระเจ้าในชีวิตผ่านโครงการตั้งแต่ยังเด็กที่ได้เรียนรู้บทเรียนต่าง ๆ มากมาย มีระดับการศึกษาและได้รับการอบรมที่เหมาะสมจนกระทั่งได้รู้จักตัวเอง ค้นพบสิ่งที่ชอบและความใฝ่ฝันในการเลี้ยงดูตัวเองด้วยอาชีพครู จึงอยากมีส่วนร่วมในการรับใช้พันธกิจของพระเจ้ามากขึ้นตามความสามารถที่ตัวเองมี อีกทั้งยังวางแผนจะเรียนพระคัมภีร์หลักสูตรระยะสั้นเสริมในอนาคต เพื่อจะนำพระคำมาแบ่งปันให้กับสมาชิกในคริสตจักรและพัฒนาการเป็นครูรวีของตัวเองให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
สุดท้าย แอ๋วกล่าวถึงความใฝ่ฝันในอนาคตว่า เธอต้องการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอและจะอุทิศตัวในการเรียนรู้เพื่อเปิดโรงเรียนอนุบาลเป็นของตัวเอง และอยากเลี้ยงดูพ่อแม่ให้ไม่ต้องทำงานหนักและเป็นกำลังสำคัญให้ครอบครัวต่อไป