อบรมภาคปฏิบัติพัฒนาศักยภาพแกนนำ
ในการขับเคลื่อนประเด็นความมั่นคงทางอาหารและน้ำ
และการตอบสนองต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมภาคปฏิบัติ
ณ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียง ๗ กระบุงโมเดล ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย
สืบเนื่องจากค่าย “ความมั่นคงทางอาหารและน้ำ และวิกฤตสิ่งแวดล้อม”เมื่อวันที่ 12-13 สิงหาคม 2566 มีคริสตจักรคู่มิตร 9 แห่งที่สมัครใจเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนเตรียมพร้อมด้านความมั่นคงทางอาหารและน้ำในคริสตจักรและชุมชนของตน จึงนำมาสู่การอบรมภาคปฏิบัติพัฒนาศักยภาพแกนนำ ระหว่างวันที่ 13-16 และ 16-19 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียง ๗ กระบุงโมเดล ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมี ดร.ตฤณธวัช ธุระวร เป็นวิทยากร
มูลนิธิดรุณาทรสนับสนุนการอบรมภาคปฏิบัติในครั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำเจ้าหน้าที่โครงการและเยาวชน ในพื้นที่ บุรีรัมย์ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ในการขับเคลื่อนประเด็นความมั่นคงทางอาหารและน้ำ และการตอบสนองต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อม ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและบนพื้นฐานบริบทภูมิสังคมของแต่ละคน ให้สามารถเป็นตัวอย่างเชิงรูปธรรมและสามารถขยายผลไปสู่คนอื่น ๆ ได้
ผู้เข้าร่วมอบรมได้แก่ เยาวชนแกนนำ เจ้าหน้าที่โครงการและศิษยาภิบาล ซึ่งได้แบ่งกลุ่มการอบรมเป็น 2 กลุ่ม เนื่องจากมีผู้สนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่ 1 อบรมในวันที่ 13-16 ตุลาคม 2566 มีจำนวน 20 คน จากคริสตจักรสบอมแฮด คริสตจักรเยาวราษฎร์ คริสตจักรหนองม่วน คริสตจักรอูตูม คริสตจักรโนนดินแดง คริสตจักรอิมมานูเอลปะคำ และคริสตจักรทุ่งจำเริง กลุ่มที่ 2 อบรมในวันที่ 16-19 ตุลาคม 2566 มีจำนวน 6 คน จากคริสตจักรพระพรแม่ลาเอก คริสตจักรเบธาเนีย และคริสตจักรแม่แฮเหนือ
ผู้เข้าร่วมอบรม กลุ่มที่ 1 จากคริสตจักรเยาวราษฎร์ คริสตจักรหนองม่วน คริสตจักรอูตูม คริสตจักรโนนดินแดง คริสตจักรอิมมานูเอลปะคำ และคริสตจักรทุ่งจำเริง อบรมวันที่ 13-16 ตุลาคม 2566
ผู้เข้าร่วมอบรม กลุ่มที่ 2 จากคริสตจักรพระพรแม่ลาเอก คริสตจักรเบธาเนีย และคริสตจักรแม่แฮเหนือ อบรมวันที่ 16-19 ตุลาคม 2566
วิทยากร ดร.ตฤณธวัช ธุระวร กล่าวถึงเป้าหมายของหลักสูตรพัฒนาศักยภาพแกนนำในครั้งนี้ว่า
“สำหรับเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพแกนนำ เกิดจากการพูดถึงความยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหารโดยหลักการ โดยทฤษฎีที่มีอยู่มากมาย แต่ว่า ในสิ่งที่สังคมกำลังต้องการเวลานี้คือ ต้องการเห็นตัวอย่างจริงที่ปฏิบัติได้ ดังนั้นในเป้าหมายของหลักสูตรนี้คือ การที่เราสร้างแกนนำ ที่จะลุกขึ้นมาทำอย่างจริงจังและก็เป็นตัวอย่าง ให้กับคนรอบข้างในเชิงปฏิบัติที่เห็นได้ จับต้องได้ครับ”
ปัจจัยสำคัญ สำหรับการทำกสิกรรมธรรมชาติ การเตรียมพร้อม ความมั่นคงทางอาหาร
“ปัจจัยของความสำเร็จในการทำกสิกรรมธรรมชาติ ที่นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารนั้น สิ่งสำคัญประการแรกเลยคือ คนที่จะดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ ในแนวทางนี้ ต้องเปลี่ยนมายเซ็ทนะครับ เปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนมุมมอง ซึ่งเราจะเห็นว่า ในยุคปัจจุบันนี้จะมีมุมมองหลักที่ทุกคนกำลังมุ่งไปทางนั้น ก็คือระบบทุนนิยม คือเน้นที่วัตถุ เน้นที่เงิน แต่สำหรับมุมมองหรือหลักคิดของกสิกรรมธรรมชาติหรือเศรษฐกิจพอเพียง เน้นที่ความพอเพียง เน้นที่การกลับสู่วิถีของธรรมชาติ และที่สำคัญคือเน้นการกลับคืนไปสู่รากเหง้า และนำสิ่งที่มีอยู่นำกลับขึ้นมาใช้ อันนั้นเป็นปัจจัยสำคัญประการแรก ก็คือการเปลี่ยนมายเซ็ท ถ้าไม่เปลี่ยน แม้จะรู้ แม้จะมีทักษะก็ไม่สามารถเปลี่ยนได้ แล้วก็สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องของการลงมือ เมื่อรู้แล้ว เปลี่ยนมายเซ็ทแล้ว ถ้าหากปราศจากการลงมือทำก็จะไม่เกิดผลเลย อันนี้คือ สองปัจจัยแรกที่ ที่นำไปสู่ความสำเร็จของการดำเนินการเรื่องกสิกรรมธรรมชาติ ที่สร้างความมั่นคงทางอาหารครับ”
อ.อาทิตย์ นภาดอย ศิษยาภิบาล คริสตจักรพระพรแม่ลาเอก
“สำหรับการอบรมครั้งนี้ สิ่งที่เป็นประโยชน์ของผมก็คือ ในการดูแลการทรงสร้างของพระเจ้าในสวนเอเดน ที่เราจะดูแลรักษา และเป็นผู้อารักขา ในการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ ให้เกิดผลสูงสุดครับ”
“ในการขุดคลองไส้ไก่ในการใช้เอเฟรมในพื้นดินในระดับที่ 1 องศาเพื่อการไหลของน้ำครับ คือในพื้นที่ของเราจะเป็นที่ลาดชัน บางครั้งทำให้น้ำจะไหลออก ถ้าเราไม่มีคลองไส้ไก่ แล้วก็ถ้าคลองไส้ไก่มันชันเกินไป น้ำก็จะเชี่ยวและแรง แต่ว่าในการทำ ในพื้นที่แค่ 1 องศาน้ำมันจะชะลอในการไหลของน้ำ มันจะลดลง ไม่ทำให้พื้นดินเซาะเสียหายครับ”
คุณเทพประสิทธิ์ พิทักษ์คีรีเขต ผู้นำอนุชน คริสตจักนเบธาเนีย
“สำหรับหลักสูตรนี้นะครับ ก็ทำให้เราได้มีความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับกสิกรรมธรรมชาติ การดูแลที่ดินและอาหารที่ยั่งยืนครับ
สิ่งใหม่ ๆ ที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมนี้ก็มีหลายอย่าง เช่น การทำคลองไส้ไก่ การเก็บน้ำฝนทุกเม็ดที่ตกลงมาที่เราจะเก็บไว้ในที่ดินของเราครับ”
“สิ่งที่อยากจะทำทันทีเมื่อกลับไป ก็คือ ปุ๋ยครับ ปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยแห้ง เพราะว่ามันทำง่าย หาวัสดุอะไรง่ายกว่าอย่างอื่น สิ่งอื่นอย่างฮอร์โมน จะทำทีหลังครับ ปุ๋ยน้ำมันง่าย เพราะว่าวัสดุเราหาได้จากธรรมชาติเลยครับ ก็คือจากต้นกล้วย น้ำตาลทรายแล้วก็มีน้ำ เอามาผสมกันง่าย ๆ ครับ ก็จะมีประโยชน์ในเรื่องของที่ดินเพราะที่ดินที่บ้านไม่ค่อยดีครับ มันแห้ง แล้วก็มันโดนสารเคมีเยอะ ทำให้ดินเสีย ดินต้องใช้เคมีเยอะ เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดทำเรื่องนี้ก่อน กลับไปทำดินให้ดีก่อน ก็จะทำให้การเพราะปลูก หรือปลูกพืชอาจจะดีขึ้นครับ”
อ.สว่าง ยิ่งสินสัมพันธ์ ศิษยาภิบาล คริสตจักรแม่แฮเหนือ
“สำหรับหลักสูตรนี้ ผมได้รับประโยชน์จากการที่เราได้เปลี่ยนแนวคิดของผมในการเพาะปลูกแบบธรรมชาตินะครับ เราสามารถที่จะบำรุงดินด้วยการใช้วัสดุจากธรรมชาติที่เรามี สิ่งที่เรามี เพื่อจะนำมาหมักเป็นปุ๋ยครับ แล้วก็นำวัตถุดิบที่เรามีในนี้ ไปเป็นฮอร์โมนเพื่อจะเป็นการฉีดพ่นให้พืชของเรา ไม่ต้องไปพึ่งสารเคมีครับ”
“สำหรับสิ่งใหม่ ๆ ผมก็คิดไม่ถึงนะครับว่า เราสามารถที่จะผลิตน้ำหมัก สำหรับฆ่าหญ้าได้ อันนี้เป็นสิ่งใหม่สำหรับผมเลย ผมก็ได้เรียนรู้ตรงจุดนี้และก็ผมว่ามันเป็นสิ่งใหม่สำหรับผมครับ”
“สิ่งที่อยากจะกลับไปทำในทันทีคือ เราจะกลับไปแล้วก็สอนเด็ก ๆ ด้วย เพื่อให้เขาตระหนักถึงความสำคัญของการเพาะปลูกแบบธรรมชาติโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี และอีกอย่างคือจะทำน้ำหมักฆ่าหญ้าครับ ซึ่งในหมู่บ้านหรือในพื้นที่ ส่วนมากจะใช้สารเคมี และยาฆ่าหญ้าเป็นหลักครับ”
คุณสบชัย เสริมปัญญากุล ผู้นำคริสตจักร กรรมการคริสตจักรแม่แฮเหนือ
“สิ่งที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้ ที่ได้ประโยชน์อย่างมากก็คือ การได้เปลี่ยนความคิดเดิม ๆ แล้วก็นำให้เรารู้ว่าสิ่งที่จะต้องดูแลรักษาหรือว่ากลับมาประยุกต์ใช้ในชีวิต มีหลายอย่าง เช่นการที่เรารู้จักวัตถุ วัสดุที่เรามีอยู่นำมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ”
“สิ่งใหม่ ๆ ที่ได้เรียนรู้ในครั้งนี้ก็คือ สิ่งที่ได้เห็นกับการลงมือทำของตัวอย่างที่นี่ อย่างเช่นการทำเตาเผา หรือว่าการลงมือทำในการจำกัดขยะ เป็นสิ่งที่ใหม่ แล้วก็เห็นผลจริงๆ ครับ”
“สิ่งที่กลับไปทำอย่าแรกในชุมชน ก็คือการกำจัดขยะ ที่จำเป็นต้องทำเพราะว่ามันมีอุปสรรคปัญหาอยู่แล้วที่จะต้องกำจัดขยะ และอีกอย่างก็คือการนำ วัสดุพืชมาเป็นจุลินทรีย์ คือที่เกิดประโยชน์กับพื้นที่มากที่สุด”
คุณวศิน มะกะตา ผู้นำอนุชน คริสตจักรเบธาเนีย
“ประโยชน์ที่ผมได้มาอบรมครั้งนี้ ก็คือเราได้รับรู้และเห็นถึงประโยชน์และคุณค่าของทรัพยากรที่เรามีในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพร ใบไม้ ต้นหญ้า ที่เราอยู่บนดอย เรามีอยู่แล้วนะครับ จากที่เรามองไม่เห็นค่า เป็นวัชพืชเราก็กลับมาเห็นค่า เห็นคุณค่าของมัน เห็นมูลค่าของมันครับ”
“สิ่งใหม่ที่ได้รับจากการมาอบรมครั้งนี้ก็คือ วิธีการจัดการน้ำบนดอยครับ ไม่ว่าจะเป็นการขุดคลองไส้ไก่ เพื่อรักษาน้ำที่อยู่ในพื้นดิน รักษาดินให้เกิดความชุ่มชื้นที่เหมาะแก่การเติบโตของพืชครับ”
“สิ่งที่จะนำกลับไปทำเป็นอันดับแรก ก็คือคลองไส้ไก่ครับ จะขุดคลองไส้ไก่เพื่อให้พื้นที่เกิดความชุ่มชื้น เหมาะสำหรับผลหมากรากไม้ที่เราจะปลูกต่อไปครับ”
โดยหลังจากนี้ ผู้เข้าอบรมกลุ่มที่ 2 จะมีการจัดอบรมปฏิบัติการสำหรับกลุ่มคริสตจักรในโซนบ่อแก้ว 6 คริสตจักร ในประเด็น: “การจัดการขยะให้สุดปลายทางอย่างยั่งยืนโดยคริสตจักรเป็นฐาน” ในวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2566 เนื่องจากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องเตาเผาขยะชีวมวล เพื่อนำไปตอบสนองปัญหากำจัดขยะในพื้นที่ต่อไป
ติดตามการขับเคลื่อนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การจัดการพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและน้ำ
และการจัดการขยะโดยคริสตจักรเป็นฐาน
ที่ Facebook page : Youth and Creation Care