คริสตจักรสบโขง

เยาวชนกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

โครงการพัฒนาเด็กคริสตจักรสบโขง

ชุมชนสบโขง ตั้งอยู่ในหมู่บ้านสบโขง ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกรายล้อมด้วยป่าเขา ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก เรียกได้ว่าชาวบ้านในชุมชนอาศัยอยู่ร่วมกันธรรมชาติมาเป็นเวลานาน มีการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติกันตามกำลัง แต่ขาดความชัดเจนในการแบ่งพื้นที่ทำกินกับพื้นที่ป่า และขาดเอกสารระบุเป็นลายลักษณ์อักษรที่สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งยังประสบปัญหาไฟป่าเป็นประจำ จึงจัดกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกรักธรรมชาติให้ชาวบ้านในชุมชนและแก้ไขปัญหาด้านความชัดเจนในการแบ่งพื้นที่

ผลของการรณรงค์และดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทำให้ชุมชนนี้กลายเป็นชุมชนที่ทำการเกษตรโดยปลอดสารเคมี ชาวบ้านได้รับกองทุนสีเขียวที่เป็นสวัสดิการสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลจากองค์การบริหารส่วนตำบล มากไปกว่านั้นยังได้รับการยอมรัฐจากภาครัฐด้วยการประกาศแต่งตั้งให้เป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษอีกด้วย ซึ่งกิจกรรมประกาศวัฒนธรรมพิเศษจะเกิดขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างความตระหนักให้ทุกคนในชุมชนร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่แบ่งแยก เช่น กิจกรรมบวชป่า ที่ศาสนาพุทธและคริสเตียนจากคริสตจักรสบโขงทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งสมาชิกคริสตจักรจะอธิษฐานและแบ่งปันเรื่องราวในพระคัมภีร์ เพื่อให้ชาวบ้านมองป่าเสมือนบ้านที่ต้องรักษาดูแลอยู่เสมอ

นายเอกราช วิมานตระการ กล่าวถึงสาเหตุของการจัดกิจกรรมเหล่านี้ไว้ว่า “เราเล็งเห็นความสำคัญของการไม่ใช้สารเคมีทำการเกษตร เมื่อพื้นที่เกษตรปลอดสารเคมี ธรรมชาติก็ฟื้นฟูตัวเองได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีพืชผลมากมายที่เกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ”

นางสาว คณาทิพย์ วิมานฉลอง หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการกล่าวถึงมุมมองของตนที่มีต่อสิ่งแวดล้อมว่า “สิ่งแวดล้อมสำคัญกับเรามาก จึงควรดูแลรักษาไว้ให้อยู่กับเราไปนานๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้เราตระหนักถึงเรื่องนี้อยู่ในใจเสมอ”

กิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาเด็กคริสตจักรสบโขง

ประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ (พื้นที่ปลอดสารเคมี) / การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ / กิจกรรมบวชป่า / สร้างแนวกันไฟ

 

ที่มาปัญหา

  • เดิมทีชาวบ้านในชุมชนร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติบริเวณหมู่บ้านอยู่แล้ว แต่หลักฐานที่เป็นขาดลายลักษณ์อักษร ทำให้ไม่มีความชัดเจนในการแบ่งพื้นที่ป่ากับพื้นที่ทำกิน
  • เกิดไฟป่า

 

จุดประสงค์

  • เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนไม่ใช้สารเคมีทำการเกษตร
  • เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนและชาวบ้านในชุมชนมีจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

 

การดำเนินงาน

ริเริ่มกิจกรรมมาตั้งแต่ พ.ศ.2558 ได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ มากมาย โดยหลักจะมีการประชุมเพื่อวางแผนกิจกรรมในกลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้านร่วมกับคณะกรรมการจากหน่วยงานรัฐ พร้อมรับงบประมาณในการจัดกิจกรรมต่างๆ จากองค์การบริหารส่วนตำบล ส่วนการจัดการแบ่งเขตพื้นที่ป่าจะได้รับงบประมาณจากมูลนิธิกะเหรี่ยงเพื่อบริการ บางกิจกรรมมีการระบุช่วงเวลาในการจัดอย่างชัดเจนในแต่ละปี ได้แก่

  • เดือนมีนาคม บวชป่าและสร้างแนวกันไฟ
  • เดือนธันวาคม ประกาศเขตพัฒนา

 

ผลที่เกิดขึ้น

  • ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนมีความสมบูรณ์ เนื่องจากไม่ถูกทำลายโดยสารเคมี
  • ชาวบ้านในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
  • การจัดการทรัพยากรในชุมชนได้รับการยอมรับจากภาครัฐ
  • ชาวบ้านในชุมชนสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้จากกองทุนสวัสดิการสีเขียวของรัฐ ซึ่งมอบให้เฉพาะหมู่บ้านที่ทำการเกษตรแบบปลอดสารเคมี

 

ผู้มีส่วนร่วม

  • เยาวชนในโครงการและผู้ปกครอง
  • สมาชิกคริสตจักรสบโขง
  • ชาวบ้านในชุมชน
  • หน่วยงานรัฐท้องถิ่น
  • ตัวแทนจากมูลนิธิต่างๆ

 

จำนวนผู้ร่วมทำกิจกรรม

120 คน ขึ้นไป

 

ขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์

นายเอกราช วิมานตระการ อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สวด

ข่าว-บทความ ล่าสุด
แนะนำมูลนิธิฯ