เยาวชนกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โครงการพัฒนาเด็กคริสตจักรบ้านแจ่มหลวง
โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนแบบองค์รวมประจำคริสตจักรบ้านแจ่มหลวงตั้งอยู่ใน ต.แจ่มหลวง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับอำเภอกัลยาณิวัฒนาที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำ ลักษณะชุมชนถูกรายล้อมด้วยพื้นที่ป่าและทรัพยากรธรรมชาติมากมายที่เรียกได้ว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เยาวชนในโครงการที่ต่างก็เติบโตมาในพื้นที่ธรรมชาติจึงมองเห็นความสำคัญของป่าไม้ เป็นเหตุให้เกิดการรวมตัวกันทำโครงการ “หนึ่งป่าหนึ่งโรงเรียน” ขึ้น เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในประโยชน์ของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และปลูกฝังจิตสำนึกนี้ให้เยาวชนรุ่นต่อไปได้ตระหนักในสิ่งเดียวกัน โดยมีการดำเนินงานตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงเวลาในการทำกิจกรรม เช่น ปลูกป่าและสร้างฝายชะลอน้ำในฤดูฝน และสร้างแนวกันไฟในฤดูร้อน เป็นต้น
ผลการดำเนินงานของกิจกรรมต่างๆ ทำให้พื้นที่ในอำเภอกัลยาณิวัฒนามีปริมาณน้ำและพันธุ์ไม้ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ไฟไหม้ป่าน้อยลง ไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่า ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ในขณะที่สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้นด้วย
นายเสน่ห์ เซมู กล่าวถึงโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้ว่า “ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากต่อชีวิตของเรา ในชุมชนมีการปลูกฝังให้ลูกหลานดูแลรักษาธรรมชาติกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หลังจากทำโครงการนี้มา เราต่างก็เห็นว่าคุณภาพของน้ำดีขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรก็มากขึ้น”
นางสาววิชุดา มุทาปัญญาพร หรือจูน เยาวชนที่ร่วมกิจกรรม กล่าวถึงมุมมองของตนในการดำเนินงานไว้ว่า “กิจกรรมนี้มีความสำคัญในด้านการสร้างจิตสำนึกให้แก่เยาวชนโดยตรง ทำให้เยาวชนตระหนักถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติให้คงอยู่ โดยกลุ่มเยาวชนเองเป็นเรี่ยวแรงหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรม เพื่อส่งต่อแนวคิดนี้จากรุ่นสู่รุ่น ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เยาวชนต้องร่วมกันลุกขึ้นมาเป็นแรงผลักดันให้กันและกันด้วยการสร้างความสามัคคี ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนเป็นปลายทาง”
กิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาเด็กคริสตจักรบ้านแม่แจ่มหลวง
ดูแลรักษาป่าต้นน้ำ / อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า / ปลูกป่า / สร้างฝายชะลอน้ำ / สร้างแนวกันไฟ
ที่มาปัญหา
พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยหลายแห่งถูกทำลาย แม้พื้นที่ป่าในอำเภอกัลยาณิวัฒนาจะยังมีความสมบูรณ์ แต่เยาวชนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนมองเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่า จึงรวมตัวกันเพื่อทำโครงการหนึ่งป่าหนึ่งโรงเรียน
จุดประสงค์
- เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นหลังเข้าใจถึงประโยชน์ของความสมดุลในการอาศัยอยู่ร่วมกับพื้นที่ป่า
- เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ
- เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนรุ่นต่อไป
การดำเนินงาน
ก่อนหน้านี้มีกิจกรรมอนุรักษ์ป่าที่เยาวชนได้เข้าร่วมกับผู้ปกครองและสมาชิกอยู่ก่อนแล้ว ต่อมากลุ่มเยาวชนได้รวมกลุ่มและจัดตั้งโครงการขึ้นเองเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ระยะเวลาในการดำเนินงานขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละกิจกรรม เช่น ฤดูฝนจะมีกิจกรรมปลูกป่าและสร้างฝายชะลอน้ำ พอใกล้เข้าฤดูร้อนจะสร้างแนวกันไฟ เป็นต้น
- ประชุมวางแผน
- สำรวจพื้นที่
- ดำเนินการ
- ติดตามผล
ผลที่เกิดขึ้น
มีปริมาณน้ำและพันธุ์ไม้ต่างๆ เพิ่มขึ้น ไฟไหม้ป่าน้อยลง ไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่า ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ทำให้คุณภาพของสิ่งแวดล้อมถูกพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
ผู้มีส่วนร่วม
จัดการดูแลโครงการโดยเยาวชน มีหน่วยงานท้องถิ่นกับมูลนิธิไทยรักษ์ป่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนและส่งเสริม
จำนวนผู้ร่วมทำกิจกรรม
20-25 คน
ขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์
นายเสน่ห์ เซมู ประธานโครงการฯ